ไทยเดินหน้าลดการติดเชื้อวัณโรค หลังพบผู้ป่วยรายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก1.3 เท่า
นครศรีธรรมราช(16 มกราคม 2563)ที่สโมสรรื่นฤดี ค่ายวชิราวุธ นางสาวเรวดี รัศมิทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดกิจกรรม “นครศรีฯ ปลอดวัณโรค” โครงการอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ อสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต. ในการป้องกันควบคุมวัณโรค เพิ่มทักษะและความรู้เกี่ยวกับวัณโรค สนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค นำร่องในเขตอำเภอเมืองและอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกิจกกรมคือ ให้ประชาชนในเขตอำเภอดังกล่าว ได้รับการดูแลในเชิงลุก จากอสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต.ในการเฝ้าระวัง คัดกรองค้นหาการป่วย ทั้งการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะด้วยเทคโนโลยีอณูชีววิทยา เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค ลดการระบาด ลดการป่วยของประชาชนในชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย อสม. และเจ้าหน้าที่รพ.สต. จำนวน 630 คน
นางสาวเรวดี รัศมิทัต ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศและนานาชาติ การดำเนินงานเพื่อการลดปัญหาวัณโรคที่สำคัญ คือการเร่งรัดค้นหา ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยวัณโรค และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข และบุคคลสำคัญที่ช่วยให้เข้าถึงผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อวัณโรคได้มากขึ้น คือ อสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต. โดยรัฐบาลมีนโยบายด้านสาธารณสุขในการพัฒนาและยกระดับความรู้ อสม. ให้เป็น อสม.ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ เพื่อลดโรคและปัญหาสุขภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ และสามารถลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดการพึ่งพาโรงพยาบาลได้
ด้านนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรค ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย ถึงแม้ว่าที่ ผ่านมาประเทศไทย จะมีการดำเนินงานป้องกันและควบคุมวัณโรคอย่างต่อเนื่อง แต่การคาดประมาณอัตรา อุบัติการณ์วัณโรคปี 2561 ยังสูงถึง 153 ต่อประชากรแสนคน และมีอัตราป่วยวัณโรครายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ของโลก 1.3 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงการที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเข้าถึงการรักษาล่าช้าหรือเข้าไม่ถึง ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน และทำให้แต่ละปีอัตราป่วยคาดประมาณลดลงได้เพียงช้าๆเท่านั้น จึงนำมาสู่การดำเนินโครงการ “ZERO TB Thailand” ในกิจกรรม “นครศรีฯ ปลอดวัณโรค” มุ่งหวังให้เกิดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในเชิงรุก เข้าถึงระบบการรักษาได้รวดเร็ว ลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนเพราะเกิดเป็น Model รูปแบบความร่วมมือของ อสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต. ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ในการมีส่วนร่วมลดปัญหาวัณโรคจากระดับพื้นที่สู่ระดับประเทศแบบยั่งยืน ต่อไป
ทั้งนี้กิจกรรม “นครศรีฯ ปลอดวัณโรค” กองวัณโรค ยังได้บริการ X-ray digital mobile ตรวจเสมหะเพิ่มด้วยเทคโนโลยีอณูชีววิทยา (Xpert MTB/RIF) เพื่อการคัดกรองการป่วยเป็นวัณโรค ให้กับ อสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต. ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค และผู้เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งเจาะเลือดตรวจหาการติดเชื้อในวัณโรคระยะแฝง จากระดับสาร Interferon-gamma ในเลือด (IGRA) เพื่อดูแลให้ยาป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคในอนาคต โดยมุ่งเน้นกิจกรรมตามมาตรการ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบ เครือข่าย นโยบายมุ่งมั่น สร้างสรรค์นวัตกรรม” นำไปสู่การยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยในอนาคตต่อไป