-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานมอบแก่ราษฎร-เจ้าหน้าทีในพื้นที่จังหวัดน่าน

วันพุธที่ 13 มกราคม 2564 เวลา 10.20 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานความมั่นคง ณ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 324 ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ได้แก่ ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยเลา ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ฐานปฏิบัติการบ้านน้ำปูน ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ฐานปฏิบัติการบ้านสว่าง ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน หน่วยกรมทหารพรานที่ 32 ฐานแสงเพ็ญ ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน รวมทั้งสิ้น 90 ถุง เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดน รักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชน เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ

จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อเชิญถุงพระราชทานรวม 1,300 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเสื้อกันหนาวไปมอบแก่เด็กเพื่อบรรเทาความหนาวและความเดือดร้อน ในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านสบขุ่น โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านสะจุก-สะเกี้ยง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน และโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งสร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยความเป็นอยู่และทุกข์สุขของราษฎรเสมอมา

โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยโครงการฯ ได้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น เพื่อให้ราษฎรบ้านสบขุ่น และบ้านดอยติ้วได้เข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้การทำเกษตรที่ถูกต้อง รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ 10,620 ไร่ นอกจากนี้โครงการยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรโดยการพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร ส่งเสริมสนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้แก่ราษฎร ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพปลูกป่าสร้างรายได้ มีสมาชิก 140 ราย กลุ่มอาชีพแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร สมาชิก 15 ราย และกลุ่มอาชีพเพาะชำกล้าไม้มีสมาชิก 33 ราย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำระบบวนเกษตรเพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดียวซึ่งเป็นการทำลายความสมบูรณ์ของหน้าดิน ปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

ปัจจุบันสามารถลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ถึง 570 ไร่ ระบบนิเวศป่าต้นน้ำได้คืนความสมบูรณ์ ส่งผลให้ชุมชนมีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ โดยเฉพาะ ต๋าว ซึ่งในปี 2562 ให้ผลผลิตถึง 120,000 กิโลกรัม สร้างรายได้ประมาณ 2,400,000 บาท ทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความผาสุกในครอบครัวอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของโครงการในระยะต่อไป อาทิ การสร้างป่าพืชอาหารที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งมีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น ต๋าว หวาย ค้อ มะขม ซึ่งเป็นพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและเยาวชน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติโดยให้ความรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือน ส่งเสริมให้ปลูกพืชระบบผสมผสาน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ป่าสร้างรายได้ และร่วมกับชุมชนพัฒนาศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป

โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะฯ ได้พบปะพูดคุยซักถามถึงความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของราษฎร เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับเยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการฯ และนำมาประยุกต์ใช้โดยผสมผสานกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดรายได้มาสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้คณะฯ ยังได้เยี่ยมบ้านเกษตรกรกลุ่มจักรสานที่อยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการอีกด้วย.