-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี ประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ

          วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2562 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ห้องประชุมห้วยทราย 1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี และติดตามเยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ

          ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานในปี 2561 ด้านการบริหาร ด้านการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนา ด้านการขยายผลการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้แก่ งานสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ งานศึกษาพัฒนาป่าไม้ งานเกษตรผสมผสาน งานพัฒนาที่ดิน งานปศุสัตว์ งานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์กบและงานส่งเสริมการเกษตร การถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้พิจารณาแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปพร้อมรับทราบปัญหา อุปสรรคของการดำเนินงาน

          โอกาสนี้ องคมนตรี ได้แจ้งที่ประชุมได้รับทราบถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะองคมนตรี ติดตามและขับเคลื่อน รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สอดคล้องตามแนวพระราชดำริ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงขอให้คณะอนุกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่นี้ ร่วมใจกันปฏิบัติงาน เพื่อสนองพระราชดำริให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์ เพื่อความผาสุกของราษฎร

          จากนั้น ช่วงบ่าย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้นำองคมนตรีเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้แก่ กิจกรรมร้านจำหน่ายพันธุ์กล้าไม้ กิจกรรมแปลงขยายพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กิจกรรมแปลงงานพัฒนาพื้นที่โครงการพิเศษ 5 ไร่ และกิจกรรมศึกษาทดลองการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงดินที่แข็งเป็นดาน ซึ่งได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่จะร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานให้บังเกิดความยั่งยืนต่อไป

    เป็นเวลาเกือบ 36 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้ยึดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการดำเนินงานเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรดินและป่าไม้ รวมถึงเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาการและเทคโนโลยี ด้านการเกษตรที่เหมาะสมตามภูมิสังคมให้แก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ให้มีอาชีพ รายได้ และมีความสุขอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยในปีงบประมาณ 2561 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยและทดสอบสาธิต จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการวิจัย การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้และการพัฒนาการป่าไม้บนพื้นฐานทรัพยากรชีวภาพบนพื้นที่เสื่อมโทรมตามแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม (โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

2) โครงการทดสอบสาธิต การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเขียวห้วยทรายเพื่อการผลิตลูกในระบบปล่อยอิสระ (Free range system) ในพื้นที่หมู่บ้านบริวารศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

และ 3) โครงการวิจัย การทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันและกำจัดโรคแคงเกอร์ในมะนาว และยังได้พัฒนางานศึกษา ทดลอง วิจัย ที่มีลักษณะต่อยอดจากงานวิจัยขั้นทดลอง โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ เช่น การทดลองใช้ถ่านชีวภาพปรับปรุงบำรุงดินทรายเพื่อการปลูกพืช และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพร พืชหายาก และพืชเศรษฐกิจ เช่น สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี

นอกจากนี้ยังได้มีการขยายผลการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจ โดยในปีงบประมาณ 2561 มีผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาฯ มากกว่า 80,00 คน มีผู้เข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 1,206 คน จากหลักสูตรเกษตรทฤษฎีใหม่ การเพาะเห็ด การผลิตและใช้ถ่านชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การปลูกและขยายพันธุ์หญ้าแฝก เป็นต้น และได้ออกเยี่ยมเยียนเพื่อแนะนำให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร จำนวน 116 ครั้ง รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น สารเร่ง พด. เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ยหมัก พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำและสัตว์ปีก นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันโรงเรียนตำรวจตระเวนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี รวม 7 โรงเรียน และสนับสนุนพันธุ์กล้าหญ้าแฝก จำนวน 500,000 กล้า รวมถึงเพาะชำกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจและไม้สำคัญประจำจังหวัด เช่น ประดู่ป่า มะค่าโมง มะฮอกกานี หว้า นนทรี อินทนิล ราชพฤกษ์ จำนวนทั้งสิ้น 50,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายแก่ให้แก่เกษตรกร หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป