เพิ่มความความรู้ เจ้าหน้าที่ “การดูแลผู้ป่วยพิการระยะสุดท้าย”
กทม.(18 ก.ค.2562) ที่ห้องประชุมกองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ชั้น 2 อาคารตึกชัยสมรภูมิ ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดูแลผู้ป่วยพิการระยะสุดท้าย” ของหน่วยงานในสังกัดกองคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย หัวหน้าหน่วยงาน พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น จำนวน 90 คน
พก. โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองสิทธิคนพิการ เสริมสร้างสังคมที่ปราศจากอุปสรรคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ และพัฒนาองค์กรด้านคนพิการให้เข้มแข็ง โดยได้บูรณาการงานกับเครือข่ายทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดูแล คุ้มครอง และฟื้นฟูศักยภาพคนพิการให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ปกติตั้งแต่ในแรกเกิด จนวาระสุดท้ายของชีวิต
สำหรับการดูแลผู้ป่วยพิการระยะสุดท้าย เป็นหนึ่งในกระบวนการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลของหน่วยงาน เมื่อพบว่าผู้ใช้บริการมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่จะนำผู้ใช้บริการส่งสถานพยาบาลตามสิทธิ หากแพทย์วินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคที่ต้องมีการดูแลแบบประคับประคองอย่างใกล้ชิดในระยะยาว เนื่องจากอาการของโรคจะทรุดลง ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และกลายเป็นผู้ป่วยพิการที่อยู่ในวาระสุดท้าย มีความเจ็บปวดและทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงในการพยุงชีวิต
ดังนั้นในวันนี้ พก. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดูแลผู้ป่วยพิการระยะสุดท้าย” ของหน่วยงานในสังกัดกองคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการ ระหว่างวันที่ 18 – 19 กรกฎาคม 2562 ณ บ้านไม้ชายเลนรีสอร์ท จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกองคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กฎหมายด้านการรักษาพยาบาล และหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข (Living Will) รวมทั้งแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานด้านจริยธรรม (Ethics Committee) การสร้างความเข้าใจการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) รวมทั้งการฝึกกิจกรรมกลุ่มการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สำหรับผู้ป่วยพิการระยะสุดท้าย ให้เปรียบเสมือนดูแลคนในครอบครัวของตนเอง ตลอดจนประสานครอบครัวของผู้ใช้บริการ เพื่อดูแลความรู้สึกของผู้ใช้บริการและญาติ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ควรมีความเข้าใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยพิการระยะสุดท้ายอย่างลึกซึ้ง สามารถดูแลผู้ใช้บริการตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมีคณะวิทยากรของศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ อาทิ กิจกรรมละลายพฤติกรรม “Who I am” กิจกรรม “ทักษะการสื่อสารกับผู้ใช้บริการ” การบรรยาย เรื่อง ภาพรวมเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง การบรรยาย เรื่อง สาระสำคัญของ Palliative care และ Living Will ตามกฎกระทรวง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 เป็นต้น