-การศึกษาชุมชน-สังคม

สจล.โชว์ “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” ตรวจวัดฝุ่นเรียลไทม์ เริ่มใช้งานที่แรก

              สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อวดโฉม “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” นวัตกรรมตรวจวัดและเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์ได้สำเร็จ พร้อมใช้งานที่แรก ณ ป้ายรถเมล์คณะวิศวกรรมศาสตร์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้จัดสร้าง “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” (KMITL Smart Bus Stop) เตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 และ PM 10 ในเขตพื้นที่เมืองได้เป็นที่สำเร็จ และพร้อมใช้งานที่แรก ณ ป้ายรถเมล์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีองค์ประกอบและฟังก์ชันการทำงาน 3 ขั้นตอนคือ 1. เซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่น ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝุ่น พร้อมสั่งการพัดลมให้ทำงานอัตโนมัติเมื่อพบปริมาณฝุ่นเกินมาตรฐาน 2. พัดลมโคจรติดเพดาน จะทำหน้าที่ระบายฝุ่นบริเวณป้ายรถเมล์ให้กระจายออกบริเวณด้านนอก และ 3. จอมอนิเตอร์ด้านข้าง ทำหน้าที่แสดงผลปริมาณฝุ่นและเฉดสี ใน 5 ระดับ คือ สีแดง-มีผลกระทบ สีส้ม-เริ่มมีผลกระทบ สีเหลือง-ปานกลาง สีเขียว-ดี และ สีฟ้า-ดีมาก พร้อมกันนี้ ยังแสดงผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่น ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตามมาตรฐานสากล (ศูนย์ควบคุมกลาง) ของสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA)

นอกจากนี้ สจล. ยังได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเมืองอัจฉริยะ (KMITL AQI Station) ณ ชั้นดาดฟ้า ตึกอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบฯ และมีแผนดำเนินการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบถาวรภายในสถาบัน โดยนำร่องเฟสแรก จำนวน 8 จุด ครอบคลุมสถานที่สำคัญและคณะต่างๆ อาทิ สนามกีฬาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อทำหน้าที่ตรวจวัดสถานการณ์และแสดงผลปริมาณ PM2.5 และ P.M.10 แบบเรียลไทม์ ตลอดจนเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ถึงแนวทางการดูแลสุขภาพของประชาคม สจล. และประชาชนทั่วไปที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว

 “สจล. มีความตั้งใจพัฒนา “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” เพื่อเป็นต้นแบบแนวคิดการพัฒนาเมือง-คุณภาพชีวิต แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ประยุกต์ใช้กับป้ายรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ตรวจวัดและสร้างบรรยากาศที่ดีในการรอรถเมล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดย สจล. ได้ฟอร์มทีมนักวิจัย และศูนย์ SCiRA ให้พร้อมแสตนด์บายในการให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ทุกหน่วยงานที่สนใจ ทั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำจุดแข็งของสถาบันในการเป็น “รากฐานนวัตกรรม” ของประเทศ ที่พร้อมผลักดันประเทศให้เป็นสังคมแห่ง “สมาร์ทซิตี้” (Smart City) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว พร้อมระบุว่า หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญและจัดสร้างโซนสะอาด เพื่อเป็นเกราะป้องกันและสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชากรในประเทศ เฉกเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศ ณ ป้ายรถเมล์ และห้องรับรองผู้โดยสาร ณ สนามบิน ฯลฯ ดังนั้น ทางออกที่ประเทศไทยจะต้องเร่งแก้ไขเพื่อตีกรอบมาตรฐานคุณภาพชีวิตคนไทย คือ การพัฒนานวัตกรรมที่จะสามารถอยู่ร่วมกับฝุ่นได้อย่างปลอดภัย อาทิ “คลีนรูม” ห้องที่สะอาดปราศจากฝุ่น ที่มาพร้อมเครื่องกรองอากาศติดตั้งภายใน ณ พื้นที่เสี่ยงฝุ่น อาทิ ป้ายรถเมล์ อาคารสำนักงานหรือออฟฟิศ อาคารสาธารณะของทางราชการ และ รถไฟฟ้าใต้ดิน ฯลฯป้ายรถเมล์อัจฉริยะ

              ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า สจล. คาดหวังว่า ป้ายรถเมล์ดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการช่วยระบายฝุ่นละอองบริเวณจุดนั่งพักหรือรอรถเมล์ ตลอดจนแสดงผลปริมาณฝุ่นและค่าสีในเฉดต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศและสุขภาวะที่ดีแก่บัณฑิต ครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป