-Agriknowledge

กปร.จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570)

ที่ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (13 มกราคม 2566) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นสำหรับการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570 ) โดยมี นายหทัย วสุนันต์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานในพิธีเปิดงานการสัมมนาฯ

การสัมมนาฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ องค์กรภาครัฐ เอกชน เครือข่ายต่างๆ รวมทั้งภาคประชาชนในการดำเนินงานส่งเสริมการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสืบสานงานพัฒนาตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

​โครงการการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินงานภายใต้กรอบของแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาโดยตลอด นับตั้งแต่แผนแม่บท ฯ ฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบัน มีแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ มาแล้วทั้งสิ้นจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับก็มีสาระสำคัญที่แตกต่างกันไป

ในระยะแรก ๆ จะเน้นที่การศึกษาวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมาย ในระยะหลังนับตั้งแต่แผนฯ 3 เป็นต้นมา แผนแม่บทฯ ได้เน้นการส่งเสริมและขยายผลการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มและมีความลาดชันสูง ตลอดจนการพัฒนาและสร้างภาคีเครือข่ายการจัดการความรู้ด้านหญ้าแฝก และการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เป็นเครื่องมือในการติดตามผลการพัฒนาและรรรงค์การใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างต่อเนื่อง

​สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริฉบับที่ 7 ที่จัดทำขึ้นในครั้งนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการระดมสมองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และร่วมสืบสาน รักษาและต่อยอดตามพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ผ่านการถ่ายทอดจากนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนที่มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในมิติต่างๆ ทั้งด้านมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน