สภาพอากาศ

ไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เตือนภาคใต้ระวังพายุไซโคลน “อำพัน”

ที่อาคาร 50 ปีอุตุนิยมวิทยา กทม.นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยเมื่อวันที่14พ.ค.ถึงการ “ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2563” ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือน ต.ค. ในระยะแรกของฤดูปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ สำหรับช่วงปลาย มิ.ย.-กลาง ก.ค. จะมีปริมาณฝนตกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรหลายพื้นที่โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1-2 ลูก ส่วนบริเวณภาคใต้นั้นจะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2564

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต่อในช่วงท้ายว่า แม้ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 แต่ปริมาณของฝนจะมากกว่าปีที่แล้ว ขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน วางแผนสำรองน้ำในช่วงที่มีฝนตกน้อย รวมทั้งวางแผนป้องกันผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว สาธารณสุข อุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป ควรวางแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ รวมทั้งกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ภายหลังสิ้นสุดฤดูฝนต่อไปด้วย

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 23.00 น.วันที่17พ.ค.อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ”ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน(มีผลกระทบถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2563)”ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ความว่าเมื่อเวลา 22.00 น. พายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 12.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 86.4 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือด้วยความเร็วประมาณ 5 นอต หรือ 10 กม/ชม ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 นอต หรือ 120 กม/ชม มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศบังคลาเทศ

ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563 มีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยตั้งแต่จังหวัดกระบี่ขึ้นมาทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลานี้

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง