-LIFESTYLELocal-newsnorthern-newsการศึกษา

มรภ.นครสวรรค์รับสมัครผู้ร่วมโครงการดนตรีพลังบวก “วงปล่อยแก่” วงขับร้องประสานเสียง “ปล่อยแก่ เมืองปากน้ำโพ” ได้ออกกำลังกาย มีเพื่อน ร้องเพลง

รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เปิดเผยว่า ด้วยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มูลนิธิตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และเทศบาลนครนครสวรรค์ ขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องผู้สูงอายุจังหวัดนครสวรรค์เข้าร่วมโครงการ “ดนตรีพลังบวกฯ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุที่เข้าโครงการ รวมถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ

2. เพื่อสร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชุมชนที่อาศัยอยู่ ด้านการพัฒนาผู้สูงอายุ

สืบเนื่องจากสังคมไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องผู้สูงอายุ ทั้งในด้านจำนวน การจัดการด้านความเป็นอยู่ของผู้อายุไม่ให้เป็นภาระ เมื่อ 40-50 ปีก่อน บ้านไหนมีคนแก่ (ผู้สูงอายุ) ประหนึ่งมีทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง ผู้คนล้อมหน้าล้อมหลัง แต่ในสภาพปัจจุบัน บ้านไหนมีคนแก่ คนแก่ได้กลายเป็นภาระของครอบครัว คนแก่ถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว คนแก่เหงาไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ ซึ่งแต่ก่อนเมื่อได้พบผู้สูงอายุ ประดุจได้พบผู้มีบุญ สามารถกราบไหว้ผู้สูงอายุอย่างได้ดุจไหว้พระ แต่ในปัจจุบันนั้น ผู้สูงอายุเป็นภาระในการเลี้ยงดู ไม่มีใครดูแลไม่มีใครเอาใจใส่ ปล่อยให้อยู่อย่างยถากรรม

สังคมรุ่นใหม่กับสังคมผู้สูงอายุ มีบริบททางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน สังคมที่ได้เปลี่ยนรุ่นไปแล้ว ความรู้ของผู้สูงอายุ ประสบการณ์ของผู้สูงอายุ วิสัยทัศน์ของผู้สูงอายุ ใช้ไม่ได้วิถีชีวิตสมัยใหม่อีกต่อไป ผู้สูงอายุยังเชื่อประสบการณ์เก่า พรรคพวกเพื่อนพ้องและการสะสม ในขณะที่คนรุ่นใหม่ เชื่อถือและเชื่อมั่นความสามารถ มีชีวิตที่ช่วยตัวเองและไม่สะสม ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้สูงอายุหมดความหมายและหมดความสำคัญลง

การทำวงขับร้องประสานเสียง “ปล่อยแก่” สำหรับจังหวัดนครสรรค์ คือ “วงปล่อยแก่เมืองปากน้ำโพ” จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายในการร้องเพลง ได้แต่งตัว ได้เข้าสังคม มีเพื่อนคุยแก้เหงา มีภาระต้องฝึกซ้อม ต้องรับผิดชอบ บทเพลงจะช่วยให้รักษาความจำ รักษาโรคเหงา รักษาโรคขี้ลืม โรคหลง หรือโรคซึมเศร้า บทเพลงและดนตรีของผู้สูงอายุเป็นอีกมิติหนึ่งของสังคม ผู้สูงอายุร้องเพลงและฟังดนตรีในยุคของผู้สูงอายุและจดจำเพลงแม่นยำ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักเพลงเหล่านั้น

ดังนั้นการจัดสังคมของผู้สูงอายุไว้ด้วยกันโดยอาศัยเพลงและดนตรีเป็นตัวเชื่อมสังคมดนตรีช่วยผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง คือ
1. ดนตรีทำให้ผู้สูงอายุมีเพื่อน มีสังคม ลดความเหงา เห็นคุณค่าของตนเอง
2. ดนตรีลดภาระการดูแลของครอบครัว เพลงจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีเพื่อน บทเพลงจะช่วยให้รักษาความจำ รักษาโรคเหงา รักษาโรคหลง หรือโรคซึมเศร้า
3. ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการสามารถเป็นกลุ่มตัวอย่างให้กับผู้สูงอายุกลุ่มอื่น ในเรื่องของคุณค่าของผู้สูงอายุ แก่แล้ว ไม่แก่เลย สามารถทำประโยชน์ให้กับลูกหลาน และสังคมได้
เงื่อนไขในการรับสมัคร
4. เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป
5. เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถเดินทางเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างสม่ำเสมอ
6. เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีต่อการขับร้องเพลง

ท่านใดมีความสนใจเข้ารับสมัคร “วงปล่อยแก่ เมืองปากน้ำโพ” ซีซั่น 2 พื้นที่สาธารณะสำหรับการเรียนรู้ พื้นที่แห่งความสุข ของผู้สูงอายุเมืองปากน้ำโพ

ขอเรียนเชิญผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไปมาร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ กับพวกเรา เริ่มรับสมัครตั้งแต่วัน 1 – 21 กุมภาพันธ์ 2567

รอบ Audition วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฏนครสวรรค์ สมัครได้ที่ลิ้งนี้ : https://forms.gle/kU8Dnkc8hwzygB3h7
หรือ โทร 083-9552999 รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรรค์ รายงาน