-commerceEconomics

“จุรินทร์” หยอดยาหอมชาวสำโรง ประกันราคา5พืชหลัก ชดเชยส่วนต่างหากขายได้ต่ำกว่าราคาประกัน

ที่บ้านกระแอกใหญ่ ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี (19 มิ.ย.2563)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ประธานกรรมาธิการแก้ไขหนี้สินแห่งชาติ และส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี และ นายนาวิน ลาธุลี อดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พบปะเกษตรกรและติดตามความคืบหน้าการดําเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ในพืชเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสําปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา โดยมีตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกพืช 5 ชนิดกว่า 300 คนร่วมสะท้อนผลการดำเนินโครงการฯ ของรัฐบาล ซึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรรัฐบาลได้จัดสรรวงเงิน 67,754 ล้านบาท ดูแลและมีเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการกว่า 7.3 ล้านครัวเรือน โดยปัจจุบันจ่ายเงินชดเชยพืชทั้ง 5 ชนิดไปแล้วกว่า 54,762 ล้านบาทต่อจำนวนเกษตรกรกว่า 3.4 ล้านครัวเรือน

จากนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และเห็นชอบในหลักการในการดำเนินการในปีต่อไป โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาราคาและปริมาณประกันรายได้ต่อครัวเรือนเพื่อนำเสนอ นบข. พิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ นายจุรินทร์เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการรักษาราคาข้าวให้มีเสถียรภาพยังได้เห็นชอบในหลักการมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก

” ยิ่งไปกว่านั้นในปีการผลิต 2563/64 กระทรวงพาณิชย์ยังได้เสนอการดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้รับไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินในส่วนนี้ไม่ว่าจะประสบภัยธรรมชาติและไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ” นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น นายจุรินทร์ กล่าวถึงโครงการประกันรายได้เกษตรกรว่าข้าวเป็นหนึ่งในพืช 5 ชนิดที่รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรและเป็นเงื่อนไขตอนประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล บอกกับพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลว่า ถ้าประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาล ขอเงื่อนไขอย่างน้อย หนึ่งข้อในสามข้อคือขอให้เอานโยบายประกันรายได้ไปเป็นนโยบายรัฐบาล พรรคแกนนำก็ตอบรับและแถลงต่อรัฐสภาเป็นข้อผูกมัดกลายเป็นนโยบายรัฐบาลชุดนี้

ประกันรายได้ คือ ถ้าพืชผลทางการเกษตรข้าว ของพี่น้องราคาตก เช่นที่นี่ส่วนใหญ่ปลูก ข้าวหอมมะลิ ถ้าวันไหนราคาข้าวหอมมะลิราคาตกรัฐบาลจะช่วยชดเชยเงินก้อนหนึ่งให้พี่น้องยังชีพได้โดยวิธีประกันรายได้คือ รัฐบาลจะกำหนดเพดานรายได้ให้กับพี่น้องว่าต้องได้ไม่ต่ำกว่าเท่าไร ข้าวหอมมะลิประกันที่ตันละ 15,000 บาท

“วันไหนราคาข้าวหอมมะลิในตลาดที่พี่น้องขายได้อยู่ที่ 15,000 บาทไม่เป็นไรพี่น้องก็เอาไปขายและรับเงินไป 15,000 บาทต่อตันตามปกติ หรือวันไหนที่ราคาข้าวขึ้นไปที่ 16,000 บาท ก็จะได้รับเงิน 16,000 บาทตามปกติ แต่ถ้าวันไหนราคาข้าวหอมมะลิตกลงจาก 16,000 ลงมาเหลือ 13,000 พี่น้องจะมีรายได้น้อยลงจากการขายข้าวหอมจะขายได้แค่ 13,000 บาท แต่ไม่เป็นไรเพราะเมื่อราคาข้าวหอมในตลาดเหลือ 13,000 บาทพี่น้องยังมีนโยบายประกันรายได้ช่วย ต่อไปนี้ถ้าที่พี่น้องขายข้าวได้ 13,000 บาทจะมีรายได้ 2 ทาง ทางที่หนึ่งคือการขายในตลาดได้มา 13,000 บาท ใส่กระเป๋าซ้ายแต่ยังมีเงินอีกก้อนหนึ่งที่เรียกว่าส่วนต่างจากรายได้ประกัน 15,000 บาทลบกับราคาตลาด 13,000 บาทคือ 2,000 บาท ที่รัฐบาลจะโอนเงินเข้าบัญชี ธ.ก.ส.ของพี่น้องประชาชนโดยตรงให้กับพี่น้องเอาไปอีกตันละ 2,000 บาท รวมกระเป๋าซ้าย 13,000 กระเป๋าขวา 2,000 บาท กลายเป็น 15,000 บาทตามรายได้ประกัน” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ข้อดีของนโยบายประกันรายได้ เพราะต้องการประกันรายได้ให้พี่น้องที่ปลูกข้าวแล้ว จะไม่มีรายได้ต่ำกว่านี้ ถ้าราคาตกแต่ถ้าราคาดีก็รับตังค์ไปเลยเท่าไหร่ก็เท่านั้นคราวที่แล้วราคาข้าวหอมดี บางครั้งก็เกินราคาประกัน พี่น้องก็จะไม่ได้รับเงินส่วนต่างแต่บางครั้งก็ได้รับเงินส่วนต่างบ้าง ช่วยให้พี่น้องได้มีรายได้ไม่ต่ำกว่ารายได้ที่ประกันนี่คือข้อดี ของนโยบายประกันรายได้ เพราะมีเงินส่วนต่าง แต่ยังมีมาตรการเสริมช่วยพี่น้องอีกและเมื่อวานได้ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลกับท่านนายกรัฐมนตรีมีมติ เบื้องต้นแล้ว เห็นชอบในหลักการแล้วว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมทั้งข้าวหอมมะลิจะต้องเดินหน้าต่อไปในปีงบประมาณต่อไป เพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2. ยามใดข้าวออกเยอะ เราจะมีมาตรการชะลอการขายให้เก็บไว้ซึ่งส่วนใหญ่ชาวนาอีสานจะได้เปรียบ ปลูกมาก็เก็บไว้อยู่แล้ว จะได้รับเงินชดเชย ตันละ 1,500 บาท และถ้าเป็นสถาบันเกษตรกรก็ได้อีก 1,500 บาทเหมือนกัน แต่ต้องแบ่งให้กับเกษตรกร 500 บาทสถาบันได้ 1000 บาทต่อตัน 3.โรงสีถ้าไปช่วยซื้อข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวออกตลาดมากก็ใช้วิธีช่วยเรื่องดอกเบี้ย 3% รวมถึงสหกรณ์ด้วย 4.เราเคยช่วยค่าต้นทุน 500 บาทต่อตันไม่เกิน 20 ไร่ ช่วยค่าเก็บเกี่ยว 500 บาทไม่เกิน 20 ไร่ แต่บางครั้งค่าเก็บเกี่ยวมีปัญหาเพราะภัยแล้ง น้ำท่วม เมื่อวานกระทรวงพาณิชย์เสนอว่าต่อไปนี้ไม่ต้องมีต้นทุน ไม่ต้องมีค่าเก็บเกี่ยว มีก้อนใหม่เรียกว่า ค่าบริหารจัดการ และปรับปรุงคุณภาพให้รวดเดียวเลยตันละ 1000 บาทไม่เกิน 20 ไร่ เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการจ่ายเงินชดเชยพืชทั้ง 5 ชนิดไปแล้วกว่า 11,703 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 904,020 ครัวเรือน แบ่งเป็น ข้าว 877 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 115,789 ครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 249 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 27,365 ครัวเรือน ยางพารา 6,430 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 364,939 ครัวเรือน มันสำปะหลัง 3,975 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 340,243 ครัวเรือน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 170 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 55,684 ครัวเรือน ซึ่งตัวแทนเกษตรกรที่มาเข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจและเรียกร้องให้รัฐบาลประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้ง 5 ชนิด ในปีต่อไป