+Local-newsnorthern-news

สธ.รุดช่วยเหลืออดีตนักแดงหนุ่ม่ป่วยวัณโรคต่อมน้ำเหลือง

เชียงใหม่ (4 กรกฎาคม 2562) แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สุวรรณชัยวัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายแพทย์นัฐพนธ์ เอกรักษ์รุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือด้านการรักษา การสนับสนุนยารักษาโรค และการตรวจทางห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา กับ นายภูมิธนะวัชร์ บุญลือประดิษฐ์ หรือคุณธีร์ อดีตนักแสดง ที่กำลังป่วยเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลือง พร้อมมอบเงินช่วยเหลือจากกิจกรรมเดิน-วิ่ง การกุศล Charity TB Run “ก้าวไปช่วยผู้ป่วยวัณโรค” เพื่อบรรเทาทุกข์ที่เกิดจากปัญหาการป่วยเป็นวัณโรค ณ บ้านพักเอื้ออาทร จังหวัดเชียงใหม่

แพทย์หญิงผลิน กล่าวว่า จากกรณีการป่วยเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลืองของอดีตนักแสดงดังกล่าว นั้น กรมควบคุมโรค ได้ประสานความช่วยเหลือไปยังผู้ป่วยเองโดยตรง และได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษา พร้อมมอบเงินช่วยเหลือดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางในการรักษา สนับสนุนยารักษาโรค และสนับสนุนการตรวจทางห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา ให้กับโรงพยาบาลลานนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่คุณธีร์ กำลังรักษาตัวอยู่ในปัจจุบัน สำหรับกรณีของคุณธีร์ ที่ป่วยเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลือง เข้าข่ายการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรค เป็นเงินจากการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง การกุศล Charity TB Run โดยโครงการดังกล่าว คณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรคที่ยากไร้ ด้อยโอกาส และประสบปัญหาจากการป่วยวัณโรคไปแล้วกว่า 100 ราย เป็นเงินกว่า 200,000 บาท และขณะนี้ยังมีผู้ป่วยวัณโรคที่ยากไร้อีกจำนวนหนึ่งที่ยื่นขอความอนุเคราะห์ขอรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งกองวัณโรค กำลังดำเนินการพิจารณาส่งมอบเงินช่วยเหลือ ต่อไป

แพทย์หญิงผลิน กล่าวต่อไปว่า วัณโรคส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ที่เหลือเป็นวัณโรคนอกปอด เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มปอด กระดูกและข้อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น โรคนี้หากรู้เร็ว รักษาให้หายขาดได้ โดยกินยาต่อเนื่อง 6-8 เดือนให้ครบตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว ถ้าไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์หรือไอมีเลือดปน ไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือเหงื่อออกมากตอนกลางคืน ขอให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร 0-2211-2138 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422