วันจันทร์, พฤศจิกายน 4, 2024
Latest:
+รอบกรุง

สสส.ผุดโมเดล “ขยะสร้างสุข” จัดการขยะอย่างมีระบบลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีนโยบายในการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องจัดการขยะอย่างครบวงจรภายในอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ โดยมีกลไกจัดการขยะเริ่มตั้งแต่จัดถังคัดแยก ขยะทั่วไปขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ และขยะอันตราย จากนั้นนำขยะแต่ละประเภทไปชั่งน้ำหนักและบันทึกการจัดการขยะ โดยขยะรีไซเคิลส่งต่อไปยังชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู และชุมชนบ้านเอื้ออาทร เพื่อนำรายได้มาพัฒนาชุมชน ขณะที่ขยะอินทรีย์นำเข้าสู่การย่อยสลายทำเป็นปุ๋ยหมักและแก๊สชีวภาพ และบางส่วนส่งต่อให้กับรถขยะของกทม.

ตัวอย่างของขยะที่จัดเก็บข้อมูล ในเดือนมี.ค.2562 มีปริมาณขยะประมาณ 3,000 กิโลกรัม ขยะเปียก เช่น เศษอาหาร ประมาณวันละ 40-50 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิลได้ วันละ 1-2 กิโลกรัม ขยะพลาสติก ขยะทั่วไปที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ประมาณ 50 กิโลกรัม ส่วนขยะอันตราย เช่นถ่านไฟฉาย และขยะอิเล็คทรอนิกส์ไม่ค่อยพบในอาคาร

ด้าน นายสุรางค์ ห่วงนาค ประธานชุมชนกุศลทอง เขตสาทร ในฐานะผู้บริหารจัดการขยะในอาคารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการขยะในอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรขยะรีไซเคิลให้กับชุมชนในซอยงามดูพลี ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับอาคารสำนักงานของสสส.ทำให้ง่ายในการขนย้ายขยะ ซึ่งขยะจากสสส.ส่วนใหญ่เป็นกระดาษเอ 4 อีกด้านหนึ่งยังไม่ได้ใช้จะถูกนำไปมอบให้ยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของชุมชน เพื่อใช้ในการเรียนการสอน ให้เด็กใช้วาดรูป กิจกรรมพับกระดาษ เป็นต้น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองในการซื้ออุปกรณ์ด้านการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมีขยะประเภทปฏิทิน กระดาษแข็งนำไปมอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอด เพื่อนำไปผลิตเป็นอักษรเบลล์ได้


นายสุรางค์ กล่าวต่อว่า ขยะรีไซเคิลอีกส่วนทั้งขวดน้ำ กระดาษแข็งจะส่งมอบให้ชุมชนเพื่อนำไปจำหน่ายนำรายได้มาดูแลสาธารณูปโภคของชุมชนเอง เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ ท่อน้ำ ซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดชุมชน หรือใช้กิจกรรมวันสำคัญต่างๆเช่นวันเด็ก วันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น ซึ่งเงินที่ได้จากการขายขยะที่ได้จากสสส.เฉลี่ยชุมชนจะมีรายได้ประมาณหลักหมื่นต่อปี โดยขยะกระดาษรีไซเคิลของสสส.จะมากสุดช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี ขณะเดียวกันขยะรีไซเคิลบางส่วนยังแจกจ่ายให้กับคนยากไร้ในชุมชน เพื่อนำไปขายมีรายได้เลี้ยงตัวเองด้วย
นายสุรางค์ กล่าวต่อ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.ยังมีขยะเปียกได้จากเศษอาหารจัดการทำปุ๋ยหมัก ใช้เวลาหมักประมาณ 1 เดือนครึ่ง จะได้น้ำหมักชีวภาพนำไปเป็นปุ๋ยให้กับแปลงผักในชุมชน โดยมีการแจกจ่ายไปเพื่อสนับสนุนให้คนปลูกผักบริโภคเอง ซึ่งก่อนหน้านี้สสส.ได้จัดกิจกรรมอบรมปลูกผักให้กับประชาชนที่สนใจทั้งจัดทำสวนผักแนวตั้งสำหรับบ้านที่พื้นที่จำกัด
ทั้งนี้ The US Green Building Council หรือ USGBC ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองให้อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เป็นอาคารประหยัดพลังงาน หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ในระดับ Platinum ซึ่งถือเป็นรางวัลระดับสูงสุด โดย LEED เป็นมาตรฐานรางวัลที่ได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดสำหรับอาคารสีเขียวในระดับโลก นอกจากนี้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยประหยัดพลังงาน อาทิ การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในห้องน้ำ รดน้ำต้นไม้ ระบบโซล่าร์เซลผลิตพลังงานมาใช้ภายในอาคาร ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่างให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่