-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ

เชียงใหม่ (14 สิงหาคม 2563) เมื่อเวลา 9.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา เดินทางไปยังห้องประชุม 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ

โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะ ได้รับฟังรายงานสรุปผลการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 46 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. จำนวน 23 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 14 โครงการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 9 โครงการ โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. ในปี 2564 จำนวน 12 โครงการ และอยู่ระหว่างการสำรวจ ออกแบบ ศึกษาสิ่งแวดล้อม และขออนุญาตใช้พื้นที่ อีกจำนวน 11 โครงการ ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะสามารถดำเนินการจากความร่วมมือประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนองพระราชดำริในการสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรในการอุปโภค บริโภค การเกษตร และรักษาทรัพยากร ให้บังเกิดความสมดุลยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ อีกจำนวน 29 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. จำนวน 11 โครงการ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย 3 โครงการ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพะเยา ส่วนอีก 6 โครงการ จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 และอีก 18 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณมจาก กปร. ในปี 2564 ต่อไป

ในการนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อกักเก็บน้ำให้กับราษฎรในช่วงฤดูแล้ง และบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับราษฎร การนี้สำนักงาน กปร. จังหวัดลพบุรี และกรมชลประทาน ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก โดยการก่อสร้างโครงการขนาดกลางไปแล้วจำนวน 7 โครงการ และโครงการขนาดเล็กจำนวน 93 โดยมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดำเนินการ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น การนี้ องคมนตรี ได้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการเพื่อประโยชน์สุขของประเทศต่อไป

จากนั้นในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังโครงการเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และติดตามการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2538 หมายถึง เขื่อนที่อุดมไปด้วยน้ำ ก่อสร้างเสร็จทั้งระบบในปี 2536 เป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำ ปิดกั้นลำน้ำแม่กวง สูง 63.00 เมตร ยาว 620 เมตร มีขนาดความจุ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี แต่ในปัจจุบัน เริ่มประสบปัญหา น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ตรงข้ามกับความต้องการการใช้น้ำของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งพื้นที่บางส่วนยังคงใช้ระบบเหมืองฝายเดิมจึงไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำของประชาชน ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้จัดทำ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราขึ้น โดยวางแผนก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนแม่แตง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ระยะทางรวม 50 กิโลเมตร ในลักษณะเดียวกับอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเป็นการบริหารจัดการน้ำในลักษณะอ่างพวง ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินงานไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มน้ำให้เขื่อนแม่กวงได้ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรซึ่งมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 175,000 ไร่ และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ชลประทาน จากเดิม 17,060 ไร่ เพิ่มเป็น 76,129 ไร่ อีกด้วย