-บทความ

เจ๋งอ่ะ! วิศวะฯ มธ.โชว์ “ปลั๊ก&โก วีลแชร์” เพิ่มโอกาส “สูงวัย-ผู้พิการ” ใช้ชีวิตนอกบ้านสุดสะดวก!

กรุงเทพฯ 23 ธันวาคม 2562 – คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE: Thammasat School of Engineering) เปิดตัวนวัตกรรม “ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์” (Plug & Go Wheelchair) ล้อเสริมมอเตอร์ติดสปีดวีลแชร์ ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตนอกบ้านของ “สูงวัย-ผู้พิการ” เป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งไม่เหนื่อยล้าแม้เส้นทางจะขรุขระหรือลาดชัน เพียงแค่ “ปลั๊ก” เชื่อมล้อเสริมเข้ากับวีลแชร์ และ “โก” ด้วยการกดปุ่มสตาร์ทที่แผงควบคุมพร้อมออกแรงบิด โดยนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ 1. คานแนวนอนใต้วีลแชร์ สำหรับรองรับการเชื่อมต่อหัวลากล้อมอเตอร์ 2.หัวลากล้อมอเตอร์ ล้อเสริมมอเตอร์ ที่มาพร้อมความสามารถในการขับขี่ที่ความเร็ว 23 กม./ชม. แบตเตอรี่ที่ช่วยให้วีลแชร์วิ่งได้ไกลถึง 18 กม./การชาร์จหนึ่งครั้ง คานแนวตั้งสำหรับเชื่อมต่อกับคานแนวนอนใต้วีลแชร์ และ 3. คอนโทรลเลอร์ควบคุมทิศทาง 3 สเตป คือ เดินหน้า อยู่กับที่ และถอยหลัง ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเวทีประกวดนวัตกรรมผู้สูงอายุและคนพิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

นายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ตัวแทนทีมพัฒนานวัตกรรม “ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์” (Plug & Go Wheelchair) กล่าวว่า ทีมวิจัย ได้พัฒนา “ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์” (Plug & Go Wheelchair) นวัตกรรมล้อเสริมมอเตอร์ ที่ช่วยเร่งสปีดวีลแชร์ให้ขับเคลื่อนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เพียงแค่ “ปลั๊ก” (Plug) เชื่อมล้อเสริมเข้ากับคานอะลูมิเนียมใต้วีลแชร์ และ “โก” (Go) ด้วยการกดปุ่มสตาร์ทที่แผงควบคุม พร้อมออกแรงบิด เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถเริ่มต้นใช้ชีวิตหรือหาประสบการณ์นอกบ้านได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งไม่เหนื่อยล้าแม้เส้นทางจะขรุขระหรือลาดชัน โดยมี ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา

โดยนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ดังต่อไปนี้ 1. คานแนวนอนใต้วีลแชร์ คานอะลูมิเนียมแนวนอน สำหรับติดตั้งใต้วีลแชร์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับหัวลากล้อมอเตอร์ 2. หัวลากล้อมอเตอร์ ล้อเสริมมอเตอร์ ที่มาพร้อมความสามารถในการขับขี่ด้วยความเร็วที่ 23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่ที่ช่วยให้วีลแชร์สามารถวิ่งได้ไกลถึง 18 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (หรือประมาณ 3-4 ชั่วโมง) และคานแนวตั้งสำหรับเชื่อมต่อกับคานแนวนอนใต้วีลแชร์ ที่ผู้ป่วยสามารถติดตั้งได้ด้วยตนเองใน 6 วินาที และ 3. คอนโทรลเลอร์ควบคุมทิศทาง แผงควบคุมทิศทางใน 3 ระดับคือ เดินหน้า-อยู่กับที่-ถอยหลัง พร้อมแสดงผลเป็นตัวเลข “1” เดินหน้า “0” อยู่กับที่ และ “2” ถอยหลัง

นอกจากนี้ ทีมวิจัย ยังได้นำหลักการรีดีไซน์ (Redesign) หรือการออกแบบใหม่มาประยุกต์ใช้กับ “ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์” โดยเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมทดแทนการใช้เหล็ก ใน 2 ส่วนคือ คานอะลูมิเนียมใต้วีลแชร์ และ อุปกรณ์เชื่อมต่อหัวลากล้อมอเตอร์ ด้วยคำนึงถึงเรื่องของ “น้ำหนัก” เป็นสำคัญ สู่การลดการใช้แรงของผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการพัฒนานวัตกรรม ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว สามารถนำมาติดตั้งกับวีลแชร์คันเดิมของผู้ป่วยได้ทันที อีกทั้งยังสามารถเลือกถอดประกอบได้ด้วยตนเอง กรณีจำเป็นต้องพับวีลแชร์เข้ารถยนต์ส่วนตัว ตลอดจนรถแท็กซี่ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วใน 5 นาที

อย่างไรก็ดี นวัตกรรม “ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์” (Plug & Go Wheelchair) ได้รับการจดสิทธิบัตรในนาม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีต้นทุนในการพัฒนาประมาณ 20,000 บาท และมีแผนจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคา 28,000 บาท โดยที่ผ่านมา ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในสาขาวิศวกรรมการแพทย์ และอุปกรณ์สำหรับคนพิการ รวมถึงรางวัลพิเศษ (Special Award) จากประเทศไต้หวัน จากเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 40 (40th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และล่าสุด สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเวทีประกวดนวัตกรรมผู้สูงอายุและคนพิการ (Thailand Friendly Design Expo 2019) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายเมธาสิทธิ์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ที่ปรึกษาวิจัย กล่าวว่า การเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการท่องเที่ยว หรือการพาตัวเองเดินทางไปยังสถานที่ที่โปรดปราน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และลดความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี เฉกเช่น “ผู้ป่วยหรือผู้พิการ” ที่ต้องอาศัยวีลแชร์ในการเดินทาง และมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ที่ในบางครั้งไม่สามารถเดินทางหรือใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างสะดวก ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตหรือพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด ย่อมเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าทางจิตใจและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้สามารถฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ นวัตกรรม “ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์” (Plug & Go Wheelchair) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้สูงอายุและผู้พิการ ในการดำเนินชีวิตภายนอกบ้านด้วยตนเองได้อย่างสะดวก และนับเป็นการตอกย้ำการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” ที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้หลากสาขา สู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรยงค์ กล่าวสรุป