วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Latest:
-การศึกษาชุมชน-สังคม

“ณัฐพล”ผลักดันอาชีวะผลิตคนให้สอดคล้องศตวรรษ 21

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 62 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสเป็นประธาน จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)เพื่อขับเคลื่อนการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และมอบนโยบาย“การอาชีวศึกษากับการพัฒนาประเทศ” ณ หอประชุมวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ว่าการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สอศ. ในวันนี้เป็นการประชุมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะรัฐ และผู้รับใบอนุญาตสถานศึกษาอาชีวะเอกชนจะได้มารับทราบนโยบายการจัดอาชีวศึกษาร่วมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีประเด็นที่จะเน้นย้ำกับผู้บริหารสถานศึกษาและผู้รับใบอนุญาต ในเรื่องของการพัฒนาอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ใน 7 ประเด็นหลัก คือ

1.ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยยึดยุทธศาสตร์ชาติเป็นจุดเน้นด้านการศึกษา ที่จะดำเนินการ 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

2.คุณภาพการจัดการเรียนการสอนภายใต้ความร่วมมือกับสถานประกอบการ ยกระดับการจัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ให้ผู้เรียนมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คุณภาพการอาชีวศึกษาถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุด ต้องยอมรับว่าสถานประกอบการเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา หน้าที่หลักของสถานศึกษาคือการเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนเข้าสู่สถานประกอบการ โดยเฉพาะทักษะขั้นพื้นฐานในแต่ละสาขางาน และการขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ทั้งเรื่องแผนการฝึก ครูฝึก การฝึกประสบการณ์นักศึกษาในสถานการณ์จริง การนิเทศ และการประเมินสมรรถนะของนักศึกษาร่วมกัน

3. เร่งยกระดับความสามารถ ทางภาษา พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น เพื่อเพิ่มทักษะสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย อาชีวะต้องเน้นการสื่อสารตามลักษณะอาชีพ สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ไปฝึกงานและแข่งขันทักษะในต่างประเทศ

4.ส่งเสริมการเรียนรู้ การใช้ดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ต้องพัฒนาผู้เรียนและผู้สอนให้สามารถใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

5. ความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อยกระดับอาชีวะมาตรฐานสากล อาทิ เยอรมัน ออสเตรีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และ ฯลฯ ให้ศึกษาผลสำเร็จแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียน การสอน และการพัฒนานักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม

6.การผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการในประเด็นผลิตเท่าไร สาขาไหน ต้องช่วยกันแสวงหาข้อมูลในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับจังหวัดซึ่งถือว่าใกล้ชิดแหล่งข้อมูลมากที่สุด และต่อยอดทักษะอาชีพ หรือเสริมทักษะอาชีพ (Multi Skill) ในสาขาขาดแคลน และเป็นความต้องการในการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถไปประกอบอาชีพ ได้จริง โดยประสานความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการส่งเสริมให้เกิดเป็นธุรกิจ Start Up

และ 7.การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และทิศทางการของ 10 อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเป็นประเทศไทย 4.0

ด้านนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และบุคลากรจากส่วนกลาง ได้รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการอาชีวศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และทำความเข้าใจในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษา ได้เสนอความคิดเห็นและแนวทางในการบริหารสถานศึกษาให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยการจัดประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 1,300 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารจากส่วนกลาง ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำเป็นต้องพัฒนากำลังคนทั้งในระบบ และระยะสั้น เพื่อรองรับการเป็นประเทศไทย 4.0 โดยในระบบ จะต้องมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปริมาณ และคุณภาพ พัฒนากำลังคนที่มีทักษะขั้นสูง ให้สามารถนำความรู้และทักษะมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ โดยผลิตกำลังคนในสาขาใหม่ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น ซึ่งในส่วนของการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น ก็จะมุ่งเน้นการสร้างอาชีพให้กับผู้ว่างงาน ยกระดับศักยภาพและพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน (Re-Skills/Up-Skills)