-การศึกษาชุมชน-สังคม

เริ่มแล้ว! การแข่งหุ่นยนต์ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ

            ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 2nd) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   โดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน   และมีผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ   สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ผู้บริหารสมาคมเเวิลด์ไดแด็ค (WORLD DIDAC Association)  ผู้อำนวยการสถานศึกษา และนักเรียน นักศึกษาร่วมพิธี ณ อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท ไบเทค ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

            ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวภายหลังเปิดงานว่า กระทรวงศึกษามีนโยนายที่มุ่งเน้นคุณภาพของการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนได้สามารถคิด วิเคราะห์ นำความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ตามแนวทางการบูรณาการของ STEM Education ไปประยุกต์ใช้ในงานอาชีพ สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จากการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์  นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปัจจุบัน  หุ่นยนต์อุตสาหกรรมนับเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 นี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้น ในการพัฒนาวิชาชีพด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ให้เกิดศักยภาพและสมรรถนะสูงสุดสู่พร้อมเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

            นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 (ครั้งที่ 2)  ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาคมเวิลด์ไดแด็ค เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมการจัดการศึกษา สู่มาตรฐานสากล และสามารถพัฒนาต่อยอด เพื่อก้าวไปสู่ในยุคประเทศไทย 4.0 การแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่มพูนทักษะ ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจ ได้ขยายขอบเขตความรู้ของตน ในด้านการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ได้แก่ การแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Automation Control Technology for Industry 4.0) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 70 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 56 ทีม และระดับอุดมศึกษา 14 ทีม

            การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Industrial Robot Control Technology for Welding 4.0 จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 61 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 57 ทีม และระดับอุดมศึกษา 4 ทีม

            การแข่งขันออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Automotive Parts Design with Industrial Robot) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 41 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 38 ทีม และระดับอุดมศึกษา 3 ทีม และการแข่งขันหุ่นยนต์ประกอบอาหาร (ผัดไทย) (Competition on Pad Thai Cooking Robot) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 31 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 26 ทีม และระดับอุดมศึกษา 5 ทีม ซึ่งการแข่งขันจัดขึ้นภายในงานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย งานแสดงเทคโนโลยี สื่อการสอนอุปกรณ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสื่อการศึกษาจากนานาประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ตุลาคม 2562 ณ อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท ไบเทค ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ