-การศึกษาชุมชน-สังคม

บุญรักษ์ เชื่อมั่น “อาชีวะก้าวข้ามการมีงานทำ สู่ยุคแห่งความก้าวหน้าในอาชีพ”

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากการที่ได้มาทำงานในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานศึกษาทั่วทุกภาค ทุกประเภททั้งวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยอาชีวะประเภทอื่น ๆ พร้อมทั้งได้ให้ข้อคิดแก่ผู้บริหาร ครูผู้สอน ว่า “เหนือกว่าหน้าที่คือความรับผิดชอบ” โดยขอให้บุคลากรอาชีวศึกษาทุกระดับตั้งใจทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเมื่อทำหน้าที่ครบแล้ว ต้องดูไปถึงปลายทางด้วยว่าผู้เรียนอาชีวศึกษามีความสำเร็จในอาชีพหรือไม่

ดร.บุญรักษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประมาณ4 เดือน เห็นได้ชัดเจนว่า นักศึกษาอาชีวศึกษาได้ก้าวข้ามเรื่องของการมีงานทำไปแล้ว เพราะสถานประกอบการอีกหลายแห่งไม่สามารถหาผู้เรียนจบอาชีวศึกษามาร่วมงานได้ เนื่องจากมีจำนวนไม่เพียงพอ นักศึกษาอาชีวะปัจจุบันเป็นฝ่ายเลือกงาน มากกว่าที่จะรอเป็นผู้ถูกเลือก และจากการเรียนในระบบทวิภาคี หรือหลักสูตรใหม่ ๆ ที่อาชีวะได้จัดขึ้น ทำให้ผู้ที่จบอาชีวศึกษามีความก้าวหน้าในอาชีพ มีรายได้สูง เพราะมีความได้เปรียบด้านการปฏิบัติ มีทักษะวิชาชีพที่เกิดจากประสบการณ์ตรง

อีกทั้งในระหว่างเรียนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้เสริมความแข็งแกร่งด้านอาชีพ ทั้งในเรื่องของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ การฝึกงานในประเทศที่เป็นต้นแบบอุตสาหกรรม ประเทศที่เป็นต้นแบบด้านการบริการ การเสริมทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ให้กับผู้เรียนอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อาชีวศึกษาได้ฝึกให้ผู้เรียนมีจิตอาสาด้วยการทำกิจกรรมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) กิจกรรมอาชีวะอาสา อาชีวะบริการ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมและประเทศ ประกอบกับ ที่ผ่านมาเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คนก่อน ๆ ก็ได้พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย เป็นไปตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการอย่างแท้จริง เมื่อมารับงานที่อาชีวศึกษา จึงเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

จากการที่สถานประกอบการเรียกร้องให้มีการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษา จึงได้ทำสะพานเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาที่เรียนสายสามัญได้ฝึกเรียนเรื่องของวิชาชีพเพิ่มเติม เป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโลกอาชีพและนักเรียนจะได้ทราบความต้องการของตนเองว่าชอบเรียนอะไร เรียนจบแล้วจะไปทำงานที่ไหน หรือจะทำเรื่องใดเป็นอาชีพเสริม ซึ่งผู้ปกครองก็เห็นด้วยเพราะบุตรหลานจะได้มีทางเลือกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ทำสะพานเชื่อมโยงไปยังอาชีวศึกษาต่างประเทศอีกหลายหลักสูตร ทั้งระบบขนส่งทางราง อากาศยาน หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม โลจิสต์ติกเทคโนโลยีการเกษตร การโรงแรมและท่องเที่ยว เทคโนโลยีอาหาร พลังงานทางเลือก ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาอาชีวศึกษาไทย ไปเรียนและฝึกประสบการณ์วิชาชีพในหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อิสราเอล เยอรมัน โดยใช้เวลาตั้งแต่ 15 วัน ขึ้นไปจนถึง 1 ปี ส่วนเรื่องการมีรายได้ระหว่างเรียนของนักศึกษาอาชีวศึกษา ก็เป็นไปตามรูปแบบการเรียนวิชาชีพ ที่ต้องมีการฝึกในสถานประกอบการและสถานประกอบการก็ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งใจเรียน และตั้งใจทำงาน บางรายวิชานักศึกษาก็สามารถทำงานมีรายได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เช่น สาขาช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง อาหารและโภชนาการ การโรงแรมและท่องเที่ยว นักศึกษาบางส่วนก็ได้รับการส่งเสริมในเรื่องนวัตกรรม และสามารนำนวัตกรรมไปสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวอีกทางหนึ่ง

จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับนักศึกษาอาชีวศึกษาหลายคน หลายสาขา นักศึกษาจะบอกตรงกันว่าไม่ผิดหวังที่มาเรียนอาชีวศึกษา บางคนไม่เคยคิดว่าเรียนอาชีวะแล้วจะได้ไปฝึกงาน ไปเรียนเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ บางคนก็ได้เข้าสู่เวทีการแข่งขันทั้งการแข่งขันในระดับภาค ระดับประเทศ และระดับสากล ภาคเอกชนที่ทำความร่วมมือกับอาชีวศึกษา ก็เป็นแรงสนับสนุนส่งนักศึกษาไปแข่งขันยังต่างประเทศ นักศึกษาอาชีวศึกษาส่วนใหญ่จะได้รับการจองตัวให้ทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ หลักสูตรและรูปแบบการเรียนอาชีวศึกษาอีกหลายหลักสูตร หลายรูปแบบที่ยังมีผู้ทราบไม่มาก แต่ก็มีผู้ปกครองเข้ามาสอบถามเป็นระยะ ๆ และพาลูกหลานมาสมัครเรียน ซึ่งถือว่าได้เปรียบ เพราะยังมีผู้เรียนไม่มาก การแข่งขันยังมีน้อย สถานประกอบการขานรับชัดเจน เช่น หลักสูตรวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ หลักสูตรอาชีวศึกษาพรีเมียม หลักสูตรอาชีวศึกษา 5 ปี (ได้ทุนต่อเนื่อง) หลักสูตร V-ChEPC (Vocation-Chemical Engineering Practice college)

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร กล่าวปิดท้ายว่า แนวทางที่ทำให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาประสบความสำเร็จคือ ต้องพัฒนาหลักสูตรต้องเชื่อมโยงรายวิชาที่เรียนเข้ากับชีวิตจริงให้ได้ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดและความชอบของตนเอง เมื่อมีความสุขในการเรียน ผู้เรียนก็จะมีแรงจูงใจในการแสวงหาความรู้เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายก็จะก้าวไปสู่ความพร้อมในการทำงาน ทำงานอย่างมีความสุข และตามด้วยเกิดความก้าวหน้าในอาชีพอย่างต่อเนื่อง