-AgriEconomics

สสก.3 ระยอง เชื่อมโยงเครือข่ายแปลงใหญ่ทุเรียนภาคตะวันออก สู่สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2562 จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง และตราด ข้อมูล ณ 27 มีนาคม 2562 พบว่าเนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดมีจำนวน 692,810 ไร่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 678,203 ไร่ (เพิ่มขึ้น 14,607 ไร่ หรือร้อยละ 2.15) โดย ทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.20 ส่วน เงาะ ลดลงร้อยละ 2.10 มังคุด ลดลงร้อยละ 0.28 และลองกอง ลดลงร้อยละ 5.08

โดยทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงในด้านรสชาติและคุณภาพ มีการผลิตที่มีความโดดเด่นเหนือกว่าประเทศคู่แข่งที่ส่งออกทุเรียนทั่วโลก ปริมาณการส่งออกทุเรียนเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศนับว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากสำหรับประเทศไทย แต่ที่ผ่านมา ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนขายผลผลิตโดยไม่มีองค์กรหรือมาตรการในการตรวจสอบและร่วมมือกันในการจัดการทุเรียนคุณภาพก่อนการส่งออก ทำให้ประสบปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนส่งออกส่งผลกระทบต่อเสียชื่อเสียงและผู้บริโภคขาดความมั่นใจ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดและการกีดกันทางการค้าต่างๆ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพและการรักษามาตรฐานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับการผลิตทุเรียนให้เข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เน้นผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน พร้อมคัดบรรจุสินค้าในโรงคัดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) เพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพดี มีความปลอดภัย และตรงตามความต้องการของตลาด

     “ที่สำคัญในความมั่นคงกับอาชีพเกษตรกรรมคือ กลุ่มผู้ปลูกทุเรียนหรือปลูกไม้ผลจะต้องรวมตัวกันในการสร้างองค์กรของตนเอง เพื่อบริหารจัดการสินค้าให้มีความพอเหมาะว่าตัวเองมีต้นทุนเท่าไหร่ ควรจะขายที่ราคาเท่าไหร่ที่ไม่ขาดทุน ขณะที่ผู้บริโภคควรจะซื้อในราคาเท่าไหร่ที่ไม่เดือดร้อนด้วย” นายดำรงฤทธิ์ กล่าว
สำหรับแนวทางการสร้างความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกรเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียน ผอ.สสก 3 ระยอง เปิดเผยว่า เกษตรกรชาวสวนทุเรียนแปลงใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเห็นด้วยกับการที่จะมีสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยตามแนวทางการบริหารจัดการทุเรียนในประเทศทั้งระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งวิธีการดำเนินงานนั้น จะเริ่มจากคัดเลือกตัวแทนแปลงใหญ่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับเขต เพื่อไปคัดเลือกคณะกรรมการระดับประเทศ ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นพร้อม วางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกัน สำหรับแนวทางการสร้างความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกรเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนระดับประเทศนั้น จะมีการคัดเลือกตัวแทนแปลงใหญ่ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขตและระดับประเทศ จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นตลอดถึงการวางแผนเพื่อพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกัน

“สำหรับในภาคตะวันออกพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จะคัดเลือกแปลงใหญ่ทุเรียนมาจาก 6 จังหวัดของ 9 จังหวัดที่มีการปลูกทุเรียน โดยคัดเลือกสมาชิกจากสมาชิกแปลงใหญ่ทุเรียนจากระดับอำเภอสู่ระดับจังหวัด และจะมีอนุกรรมการบริหารงานของสมาพันธ์ในระดับจังหวัด ซึ่งในปี 2563 ก็จะเห็นมิติใหม่ของการผลผลิตและค้าขายทุเรียน หรือไม้ผลในภาคตะวันออก คือการผลิตและการตลาดที่ผ่านการบริหารจัดการของสมาพันธ์ฯ อันจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ก่อเกิดความมั่นคงในขบวนการผลิตทุเรียนของภาคตะวันออกได้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน” นายดำรงฤทธิ์ กล่าว