-การศึกษาชุมชน-สังคม

อ.กรอ.อศ.เดินหน้าปั้นครู-สร้างศิษย์

         อาชีวะจับมือสภาการศึกษา ร่วมลงนามกับ อ.กรอ.อศ.5 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 23 สถานประกอบการพัฒนาครูอาชีวะให้ก้าวทันเทคโนโลยี


            ปทุมธานี (18 มิ.ย.2562) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) เรื่อง เทคโนโลยี 4.0 กับการเชื่อมโยง อ.กรอ.อศ. ต่อการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษา ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมปทุมรัตน์ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ทั้ง 5 กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพแม่พิมพ์  กลุ่มอาชีพก่อสร้าง กลุ่มอาชีพผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์เล็กอเนกประสงค์ กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มอาชีพพลังงาน  พร้อมทั้งหน่วยงานและสถานประกอบการ 23 แห่ง เพื่อร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา โดยการพัฒนาประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ เพื่อให้ครูอาชีวศึกษาสามารถก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

              

            ดร.บุญรักษ์กล่าวต่อไปว่า สอศ.มีภารกิจหลักคือ การจัดการศึกษาวิชาชีพและผลิตกำลังคนระดับฝีมือระดับเทคนิคและระดับเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและให้ได้มาตรฐานระดับสากล  พันธกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ สร้างเครือข่ายความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ตลอดจนส่งเสริม/พัฒนา ครูและบุคลากรอาชีวศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ มั่นคง และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพครูอาชีวศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในระบบการศึกษาที่จำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่การมีงานทำเพราะครูมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ทักษะและประสบการณ์วิชาชีพให้แก่ผู้เรียน

            ดังนั้นการยกระดับขีดความสามารถทางวิชาชีพของครูอาชีวศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ การให้ครูอาชีวศึกษาได้รับการพัฒนาประสบการณ์และปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตลอดเวลา จะเป็นการเพิ่มความรู้ ทักษะและสมรรถนะวิชาชีพของครูอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่หลากหลาย  ทันต่อวิทยาการ และเทคโนโลยีชั้นสูงในโลกอาชีพ  รวมทั้งสอดคล้องกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรฐานการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี  ที่ได้กำหนดให้ครูผู้สอนวิชาชีพในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระบบทวิภาคี  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต้องได้รับการพัฒนาวิชาชีพที่สอนไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อคนต่อปีการศึกษา จากสถานประกอบการที่ร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคี

            ในแต่ละปีผลการสำรวจความต้องการของครูจากสถาบันการอาชีวศึกษาและสถานศึกษาที่แจ้งความต้องการจะไปพัฒนาประสบการณ์ในสถานประกอบการมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ทั้ง 5 กลุ่มอาชีพ ร่วมกับหน่วยงานและสถานประกอบการที่มีความพร้อมเพื่อเป็นต้นแบบในครั้งนี้ จึงนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อขยายผลไปยังสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ต่อไป