-การศึกษาชุมชน-สังคม

“อาชีวะอุดรฯ” ปรับแถวจัดหลักสูตรใหม่ ปั้นเด็กป้อนธุรกิจการบิน

             วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี พัฒนาหลักสูตรการอาชีวศึกษาใหม่ ที่ทันสมัย รองรับโลกอาชีพแห่งอนาคตและสอดคล้องกับ Growth Engine (First S-Curve, New S-Curve)


             นางเจิดฤดี ชินเวโรจน์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและการบริหารธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ประชุมผู้บริหาร หัวหน้าแผนกวิชา ครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี  เพื่อให้คำแนะนำการพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาใหม่ๆ เช่น สาขาวิชาธุรกิจการบิน สาขาวิชาการท่องเที่ยวรายได้สูง สาขาวิชาการตลาดยุคดิจิตอล สาขาวิชาการจัดการสำนักงานสมัยใหม่ และสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ Premium  เป็นต้น

            ทั้งนี้ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี  ได้นำท่านที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและการบริหารธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนและให้ท่านพบปะ ทักทายและให้โอวาท ข้อคิด คำแนะนำในการเรียน การปฏิบัติตนของนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ  โดยนางเจิดฤดีได้ให้โอวาทกับเด็กว่า  “ขอให้นักศึกษาพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เน้นการฝึกปฏิบัติให้เกิดทักษะใหม่ๆ พัฒนาภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและภาษาอื่นๆ ตามความถนัดและความสนใจของตนเอง ตลอดจนการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อเป็นผู้ประกอบการเอง ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กำลังพัฒนากรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาใหม่ เพื่อพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้ทันสมัย เตรียมการรองรับให้สถานศึกษาเปิดหลักสูตรใหม่ได้ต่อไป”

            ดร.นิรุตต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ได้ทำวิจัยสำรวจความต้องการในการเปิดสาขาวิชาใหม่ของพื้นที่บริการในเขตจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการในการเปิดสาขาวิชาธุรกิจการบินมากที่สุด  รองลงมาสาขาโลจิสติกส์และมีสาขาอื่นๆ รองลงมาตามลำดับ ซึ่งวิทยาลัยฯ จะต้องพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องให้ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิชาธุรกิจการบิน  ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี มีที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติอุดรธานี  ที่มีเที่ยวบินมากสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น วิทยาลัยฯ จึงจำเป็นต้องเปิดสาขาธุรกิจการบิน เพื่อผลิตกำลังคนรองรับการขยายการเติบโต การขนส่งทางอากาศของสนามบิน โดยวิทยาลัยฯ มีการเตรียมความพร้อมหลายเรื่อง เช่น ห้องเรียน ครู ผู้เชี่ยวชาญภายนอก ความร่วมมือกับสถานประกอบการ ความร่วมมือกับต่างประเทศ หลักสูตรการจัดเรียนการสอน ผู้เรียน ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”