วันศุกร์, กันยายน 13, 2024
Latest:
-AgriEconomics

เกษตรฯ ชูโมเดลหนุนปลูกข้าวโพดหลังนา คาดทำเงืนสะพัดทั้งระบบกว่า7.4พันล้านบาท

โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ผลสำเร็จที่เกินคาด ยกเป็นโมเดลแก้ปัญหาปลูกพืชในฤดูแล้ง สร้างสมดุลการผลิต เกษตรกรพอใจ สร้างรายได้ ตอบโจทย์ตลาด ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน


นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา นับเป็นโมเดลสำคัญในการพัฒนาการเกษตร เพราะโครงการมุ่งเป้าที่เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จากการไม่ทำนาปรังและปลูกพืชอื่นแทน นอกจากนี้ยังได้รับความรู้ ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคมต่างๆ ได้แก่ เกษตรจังหวัด ชลประทาน สหกรณ์ พัฒนาที่ดิน ธ.ก.ส. ที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกร เป็นทีม 5 เสือ นอกจากนี้ผู้แทนภาคเอกชน จากสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่เข้ามาทั้งการดูแลคุณภาพ และการรับซื้อผลผลิตให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มวิเคราะห์เพื่อเสนอทางเลือกปลูกพืชที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง สภาพปัญหา ความเหมาะสมของสภาพดิน ปริมาณแหล่งน้ำ และความต้องการของตลาด ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงตอบโจทย์นี้

โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มีพื้นที่ครอบคลุมใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมี 5 เสือ ได้แก่ เกษตรจังหวัด ชลประทาน สหกรณ์ พัฒนาที่ดิน และ ธ.ก.ส. ร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและได้รับการตอบรับจากเกษตรกร จำนวนมากกว่า 82,316 ราย พื้นที่กว่า 724,932 ไร่ พื้นที่โดยส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งขณะนี้เก็บเกี่ยวหมดแล้ว ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปริมาณผลผลิตรวมทั้งสิ้น 0.867 ล้านตัน ก่อให้เกิดรายได้สุทธิกับเกษตรกรรวมแล้วกว่า 2,400 ล้านบาท ภาพรวมเกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 7,400 ล้านบาท

นายสำราญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวโพดในโครงการฯ ดำเนินการเก็บเกี่ยวครบหมดทุกพื้นที่แล้ว และมียอดการจำหน่ายที่ชัดเจน ไม่มีปัญหาการลักลอบนำข้าวโพดจากแหล่งอื่นมาจำหน่ายในจุดรับซื้อของสหกรณ์และเอกชน เพราะป้องกันด้วยระบบ corn service ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงระดับพื้นที่ ป้องกันทั้งการลักลอบจำหน่ายและการปลูกในพื้นที่ไม่ถูกต้องตามเอกสารสิทธิ์ และที่สำคัญ เกษตรกรพอใจที่ได้ราคาดีกว่าการทำนาปรัง แม้จะเกิดปัญหาในหลายพื้นที่ เช่น หนอนกะทู้ข้าวโพดลายจุด ฝนทิ้งช่วง วาตภัย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการฯ ยังได้รับความร่วมมือและผลตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรที่เข้าใจและเห็นว่าควรที่จะปรับตัวและเปลี่ยนพืชให้เหมาะสม ซึ่งเจ้าหน้าที่เกษตรทุกหน่วย ก็ได้ให้ความรู้กับเกษตรกร จนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้ ถือเป็นผลงานและเป็นโมเดลการบริหารจัดการ โครงการในระดับพื้นที่ที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์