-Healthy

เสวนา “2 ปี UCEP ไทยฯ” เสนอตั้งกองทุนกลางสำรองจ่าย สร้างความเชื่อมั่นให้ปชช.

ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กทม.  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. จัดเสวนาและรับฟังความคิดเห็น การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล  นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) “ 2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร : Next Step for UCEP” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา

นพ.สัญชัย  ชาสมบัติ  รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า  รัฐบาลได้เริ่มโครงการนี้เมื่อ 1 เมษายน 2560 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยได้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ปัญหาที่พบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก มีผู้เข้าเกณฑ์ได้ใช้สิทธิในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 4 หมื่นราย

“จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยอาการฉุกเฉินวิกฤติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะเสียชีวิต มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 88% ณ วันที่ย้ายออกจากโรงพยาบาลแรกไปสู่โรงพยาบาลต้นสังกัดหรือที่โรงพยาบาลรับย้าย และผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน มีผู้ใช้บริการมากในเมืองใหญ่ๆ กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้บริการมากที่สุด และมีประมาณ 10 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในโครงการเลย  อาการเจ็บป่วยที่เข้าเกณฑ์ที่พบมากได้แก่ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หมดสติ อัมพาต และหัวใจหยุดเต้น” รองเลขาฯ สพฉ.  กล่าว พร้อมระบุว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน กุญแจสู่ความยั่งยืนคือ การให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ฝั่งผู้ป่วยก็ใช้สิทธิ์โดยสุจริต โรงพยาบาลก็ให้การดูแลตามมาตรฐานทางการแพทย์ไม่แยกสิทธิหรือสถานการณ์จ่าย อัตราจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเป็นธรรม อาจต้องมีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ไขบางประเด็น เช่น คำนิยาม 72 ชม การพ้นวิกฤติเป็นอย่างไร เพิ่มประเด็นใกล้ที่ใหน ไปที่นั่น และอาจต้องมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อบริหาร UCEP เป็นการเฉพาะอีกด้วย

ด้าน นายแพทย์การุณย์  คุณติรานนท์  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่อง UCEP  สิ่งสำคัญคือแก้ทั้งระบบ ทำอย่างไรให้ภาครัฐ เล็งเห็นปัญหา และทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะ การใช้บริการ นอกเวลาราชการ ทำอย่างไรให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ  อัตรากำลังคนของโรงพยาบาลมีเพียงพอหรือไม่ จึงเป็นที่มาในการให้ภาคเอกชนมาหนุนเสริม  ถัดมาคือเรื่อง ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ก่อนถึงโรงพยาบาลเองก็มีความสำคัญอย่างมาก  โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ กว่าประชาชนจะเข้ามาใช้บริการในระบบได้ ต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากมีปัญหาจราจร  ที่ผ่านมา มีประชาชน ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency medical services, EMS) ไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือประชาชนมาเอง ทำอย่างไร ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นตรงนี้ เพราะระบบ EMS จะเป็นระบบที่คัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้น ในภาวะวิกฤติ หรือไม่วิกฤติ และรถที่ไปให้บริการก็ต้องมีคุณภาพระดับหนึ่ง  รวมทั้งต้องมีศูนย์สั่งการที่ชัดเจน

เลขาฯ สปสช. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การเบิกจ่ายก็สำคัญ เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวน ขณะที่คุณภาพการให้บริการ ก็ต้องมาทบทวนเช่นกัน เพราะตั้งแต่มีโครงการนี้มา เราไม่เคยพูดในส่วนนี้เลย ขณะที่การอุทธรณ์กรณีมีข้อพิพาท ก็ควรอยู่ในระบบ เปิดโอกาสให้ประชาชนอุทธรณ์ และมีระบบการไกล่เกลี่ย สุดท้ายเรื่อง ศักยภาพของโรงพยาบาล ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน ว่าโรงพยาบาลไหน มีศักยภาพและเชียวชาญในการรักษาโรคอะไร

ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา วงเสวนา มีมติเป็นข้อเสนอแนะที่ต้องแก้ไข 11 ข้อ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรมกับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และสถานพยาบาล 2. เร่งรัดการแก้ไขระเบียบให้รองรับการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาคืนแก่สถานพยาบาลกองทุนต่างๆ 3. จัดตั้งกองทุนกลางเพื่อเบิกจ่ายให้กับสถานพยาบาลแทนกองทุนที่ไม่มีศักยภาพพอจ่าย 4.พัฒนาเกณฑ์โปรแกรมการคัดแยก ระดับความฉุกเฉิน ให้มีความถูกต้องแม่ยำในการคัดแยก 5. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจในการรับบริการของโครงการ ทั้งในเรื่องของความหมาย ของคำว่า ภาวะฉุกเฉินวิกฤติ และการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สุด

6.กำหนดนิยามคำว่า พ้นวิกฤติให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิประชาชน 7.ปรับระบบการคิดราคายาและเวชภัณฑ์ในบัญชีแนบท้าย (Fee Schedule ) ให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 8. พัฒนาระบบการรับเรื่องร้องเรียนให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถอุทธรณ์ได้ และควรมีระบบการไกล่เกลี่ย 9.ชื่อโครงการ ควรเปลี่ยนจาก “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ “ เป็น”เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น ทั้งรพ.รัฐและเอกชน”10. การออกประกาศ ระเบียบ และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐควรให้มีตัวแทนผู้บริโภคมามีส่วนร่วมด้วยเพื่อลดความขัดแย้ง และเป็นธรรม 11. เร่งรัดให้มีการพัฒนาโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินในการลดความแออัด และให้บริการอย่างมีมาตรฐาน