-บทความ

“ซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นริมฝั่งอ่าวคุ้งกระเบน” ผลสัมฤทธิ์ความร่วมมือของชุมชนและทุกภาคส่วน

“วันนี้ ที่อ่าวคุ้งกระเบน ชาวประมงสามารถออกเรือไปจับสัตว์น้ำ เช่น ปูม้า และปลาทะเลหลากหลายชนิด โดยใช้เวลาสั้นลง ความถี่รอบของการออกทะเลมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบนจึงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทุกคนมีความพึงพอใจอย่างมาก

ที่ผ่านมาในแต่ละปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทั้งเพื่อการอนุรักษ์ และการเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลที่หลายชนิดพันธุ์ เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลากะพงขาว และปูม้า รวมแล้วกว่า 20 ล้านตัว ไม่นับรวม หอยชักตีน และหอยท้องถิ่นที่ชาวประมงสามารถเก็บจากชายฝั่งส่งจำหน่ายในท้องตลาดได้ทุกวัน” นางสาวมนทกานติ ท้ามติ้น ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมถึงที่มาของความสมบูรณ์บริเวณชายฝั่งตลอดแนวจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงว่า ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 40 ปีที่มีการศึกษาพัฒนาภายใต้แนวทาง “จากขุนเขา สู่ท้องทะเล” เริ่มจากการฟื้นฟูสภาพของป่าชายเลนที่มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าไร่ และปลูกเพิ่มอีก 1,100 ไร่ ทำให้ป่าชายเลนหวนกลับมาสมบูรณ์ดังเดิม เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ต่อมามีการสร้างฝายชะลอน้ำและกักเก็บน้ำสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมจากเดิมที่ขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันสามารถเพาะปลูกพืชได้หลากหลายชนิด ทั้งพืชล้มลุกและไม้ยืนต้น

“ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมกับชาวประมงพื้นบ้าน ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้แก่พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่มาวางไข่ และตัวอ่อนได้หากินหลบภัยเพื่อเจริญเติบโต ทำให้เกิดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งอย่างครบวงจร พร้อมกันนี้ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ฯ ได้ร่วมกับชุมชนจัดตั้งธนาคารปูม้าขึ้น เพื่อนำลูกปูม้าปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทำให้มีปริมาณปูม้ามากเพียงพอต่อการจับขายของชาวประมงชายฝั่งจันทบุรีอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่สนใจของกลุ่มชุมชนชายฝั่งอื่น ๆ ที่มาศึกษาเรียนรู้ และนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติใช้ในชุมชนของตนเอง จนปัจจุบันมีธนาคารปูม้าเกิดขึ้นหลายแห่งตลอดแนวชายฝั่งอ่าวคุ้งกระเบน เรียกได้ว่า อ่าวคุ้งกระเบนในวันนี้มีซุปเปอร์มาร์เก็ต ท้องถิ่นเป็นของตนเอง” นางสาวมนทกานติ ท้ามติ้น กล่าว

ด้านนายบดินทร์ ดิษฐะ ชาวประมงชายฝั่งหมู่ที่ 6 ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันทำประมงชายฝั่งเพียงอย่างเดียวมีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวให้มีความสุขได้ ด้วยสัตว์น้ำชายฝั่งมีให้จับขายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ดีกว่าเมื่อก่อน

“เมื่อมีการอนุรักษ์ทุกอย่างก็จะดีขึ้น อ่าวคุ้งกระเบนเป็นแหล่งกำเนิดแพลงก์ตอน อาหารของลูกปู ลูกปลา ทำให้ปลากะพง ปลาเก๋า ปูม้า จะเจริญเติบโตก่อนออกไปหากินในท้องทะเลเมื่อเติบโตเต็มที่ ตอนนี้ออกทะเลไปวางอวนแค่ 2 ไมล์ทะเล วางเช้ากู้เย็นก็มีสัตว์น้ำมากเพียงพอไปขายได้แล้ว ช่วงไม่มีมรสุมมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ถึง 7,000 บาทต่อครั้ง ช่วงมรสุมรายได้ลดลงหน่อยเพราะทะเลคลื่นแรงสัตว์น้ำไม่ค่อยออกหากินจะมีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณครั้งละ 2,000 บาท ที่สำคัญตั้งแต่มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นมา สัตว์น้ำมีมากขึ้น การดำรงชีวิตของประมงชายฝั่งก็ดีขึ้น หากุ้ง หอย ปู ปลา ได้มากกว่ากันเยอะ” นายบดินทร์ ดิษฐะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าชายฝั่งทะเลอ่าวคุ้งกระเบนจะมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนได้ยาวนานแค่ไหนนั้น นายประเวช จันทร์ศิริ หัวหน้าศูนย์ศึกษาและพัฒนาป่าไม้อ่าวคุ้งกระเบนฯ ยืนยันว่า ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอดีตเคยเสื่อมโทรมมีพื้นที่สมบูรณ์เพียง 610 ไร่ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,300 ไร่ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ และประชาชนทั่วไปที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน จนปัจจุบันอ่าวคุ้งกระเบนคือป่าชายเลนที่สมบูรณ์อันดับหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี

“จากความสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจ หลายชนิดจำนวนมาก เช่น ปลากระบอก ปลาเห็ดโคนปูม้า ปูทะเล หอยกระปุก หอยคราง และหอยปากเป็ดที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค นอกเหนือจากพะยูนที่ได้หวนกลับมาหากินบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากห่างหายไปนาน เนื่องจากบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนมีหญ้าทะเลเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งเป็นอาหารของพะยูน” นายประเวช จันทร์ศิริ กล่าว

ทั้งนี้ในความสมบูรณ์ที่หวนกลับคืนมานั้น ล้วนเกิดจากทุกคนในพื้นที่ ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นถิ่นของตัวเองให้มีความสมบูรณ์ ยังผลให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ฉะนั้นโอกาสที่ทุกคนจะทำลายระบบนิเวศชายฝั่งเหมือนในอดีตก็คงจะไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามแนวทางการพัฒนามีแต่จะขยายวงกว้างออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ ความยั่งยืนใน ทรัพยากรของอ่าวไทยในวันข้างหน้า .

ที่มาข้อมูล/ภาพ-สำนักงานกปร.