วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Latest:
-EconomicsInsurance

คปภ.เปิดตัวประกันภัยประมงภาคสมัครใจ ประเดิมมอบ 45 กรมธรรม์ประมงพื้นบ้านเกาะสมุย-ดอนสัก

            นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงาน คปภ. ได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 32/2562 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน และกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อชาวประมงภาคสมัครใจ (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องประกันภัยประมงแก่ชาวชุมชนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไปแล้วในโครงการคปภ.เพื่อชุมชนเพื่อเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายผลให้ชาวประมงพื้นบ้านได้เข้าถึงประกันภัยประมง รวมทั้งเป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยประมง ซึ่งมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมโครงการแล้ว ประกอบกับช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้หลายพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงเรือพื้นบ้าน ดังนั้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านหัวถนน อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดตัวประกันภัยประมง โดยมีการแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้านทั้งแบบที่ขอรับการสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจากภาครัฐ และแบบภาคสมัครใจ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ชาวประมงสามารถเลือกซื้อได้เอง

 

            กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน ที่มีการสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล  จะต้องเป็นเรือที่ทำการประมงเรือพื้นบ้าน ขนาดของเรือไม่ถึง 10 ตันกลอส และได้มีการจดทะเบียนเรือ (ประเภทเรือประมง) กับกรมเจ้าท่า ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายทั้งในขณะออกเรือและจอดฝั่ง อันเนื่องจากอุทกภัย วาตภัย พายุ คลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง แผ่นดินไหว และสึนามิ

            ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อชาวประมงภาคสมัครใจ (ไมโครอินชัวรันส์)ให้ความคุ้มครองเรือ 2 ขนาด คือ ขนาดของเรือไม่ถึง 10 ตันกลอส สำหรับเรือที่ใช้สำหรับทำการประมงในทะเลและได้มีการจดทะเบียนเรือ (ประเภทเรือประมง) กับกรมเจ้าท่า ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยเพียง 300 บาทต่อลำ และขนาดของเรือ 10 ตันกลอสขึ้นไป สำหรับเรือประมงที่มีขนาดของเรือ 10 ตันกลอสขึ้นไป จะต้องมีอาชญาบัตรจากกรมประมง  ซึ่งมีเบี้ยประกันภัย 400 บาทต่อลำ โดยกรมธรรม์นี้จะได้รับความคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายทั้งในขณะออกเรือและจอดฝั่งอันเนื่องจาก อุทกภัย วาตภัย พายุ คลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง แผ่นดินไหว และสึนามิ

            นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่บนเกาะสมุย เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวไทย จีน มุสลิม ที่อยู่กันอย่างสงบสุขมาช้านาน ชาวบ้านใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ปลายถนนเป็นหาดหัวถนน มีเรือของชาวประมงจอดเรียงราย และแผงปลาตากแห้งมากมายเหมือนกลับสู่อดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน  และหากมีภัยมรสุมหรือภัยต่างๆ เข้ามาชาวบ้านก็ต้องทำใจยอมรับในความเสียหายที่มีเข้ามาอยู่เนืองๆในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ได้แนะนำให้ความรู้ และ มอบกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อชาวประมงภาคสมัครใจ จำนวน 45 กรมธรรม์ ให้กับชาวประมงพื้นบ้านชุมชนหัวถนน และชุมชนดอนสัก เพื่อจุดประกายสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย โดยได้รับเกียรติจาก นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย และ ว่าที่ร้อยตรี กิตติภพ รอดดอน นายอำเภอเกาะสมุย ให้การต้อนรับและกล่าวขอบคุณสำนักงานคปภ.ที่นำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงเรือพื้นบ้าน 

            ด้านนายสมหมาด โต๊ะหาด ผู้นำชุมชนอาวุโสบ้านหัวถนน (ชุมชนมุสลิม) เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ สำนักงาน คปภ. ให้การสนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัยประมงเรือพื้นบ้านในครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาชาวประมงเรือพื้นบ้านต้องแบกรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติด้วยตัวเอง ดังนั้นนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ชาวประมงเรือพื้นบ้านมีเครื่องมือหรือ ตัวช่วยในการบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย จึงขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่ได้ให้ความสำคัญต่อชาวเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งการประกันภัยเรือพื้นบ้านเป็นประโยชน์และวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการประกันภัย ต่อไป อยากให้มีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอีก และโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวประมง อย่างแท้จริง และเป็นการเดินมาถูกทางในการสอนให้ประชาชนรู้จักบริหารจัดการความเสี่ยงและพึ่งพาตนเองมากขึ้น

            ส่วนนายชุมพล แซ่ลิ้ม นายกสมาคมประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจกับชาวประมงเรือพื้นบ้านที่หน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุน และอยากให้ขยายการสนับสนุนประกันภัยเรือประมงประเภทอื่นๆ ด้วยในอนาคต รวมทั้งมีการขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมกับทรัพย์สินและความเสี่ยงต่างๆ ที่มีอยู่ ก็จะเป็นการดีเพื่อที่ระบบการประกันภัยจะได้เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับชาวประมงแบบครบวงจร