-LIFESTYLE

ใกล้เปิดแล้ว “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เล็งดันเป็นฮับพิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอาเชียน

     เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรักษาการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) มาเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
จากนั้น นายพิเชฐ เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมว่า ขณะนี้การดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า มีความคืบหน้าไปมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างเรียบร้อยดี คาดว่าปลายเดือนมีนาคม 2562 นี้จะแล้วเสร็จทั้งหมด และในเดือนมิถุนายน 2562 จะมีเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างไม่เป็นทางการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าชมเพื่อทดสอบระบบการให้บริการต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2562 นี้ เชื่อว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะเป็นสถานที่เรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทยด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ จะเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีชีวิต มีเนื้อหาสาระที่นำเสนอผ่านนิทรรศการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำเสนอผ่านหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใน 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1.บ้านของเรา นำเสนอการก่อกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะและโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจนถึงกำเนิดมนุษย์ 2. ชีวิตของเรา นำเสนอสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับระบบนิเวศ และ 3.พระราชาของเรา เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรพื้นที่ต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
     รมว.วท.กล่าวอีกว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะดำเนินการผลักดันยกระดับให้พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า กลายเป็นศูนย์กลางหรือฮับ(Hub) การเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของอาเชียน เพราะเรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการร้อยเรียงความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความสมดุลของชีวิตบนโลก นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของจักรวาลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งไปจนถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม การเรียงร้อยเรื่องราวดังกล่าวดำเนินอยู่บนแกนความคิดซึ่งถอดมาจากแนวพระราชดำริ ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมนำเสนอข้อมูลทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้ง การจัดแสดงระบบนิเวศของไทยและของโลกที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย


     “การยกระดับพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ให้เป็นฮับหรือศูนย์กลางพิพิธภัณฑ์ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของอาเชียน ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะขณะนี้กำลังมีความพยายามที่จะต้องการให้บริเวณคลอง 5 เทคโนธานี เป็นเหมือนศูนย์รวมของพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากมีพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายไปตั้งอยู่ รวมถึงหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ทำให้เกิดเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งจะเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่สำคัญ ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังมีเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งคมนาคม รถไฟฟ้าถึงรังสิต คลองหลวง ทำให้สะดวกต่อการเดินทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าและอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องพูดถึงการจะมีสวนสัตว์ดุสิตที่จะเสร็จสมบูรณ์ ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริเวณคลอง 5 กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งหนึ่ง” นายพิเชฐ กล่าว
     นอกจากนี้ นายพิเชฐ กล่าวว่าได้แนะนำเพิ่มเติมว่า จะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต เป็นพื้นที่การเรียนรู้ สนุก มีสาระ ไม่ใช่แค่เอาของมาวางแล้วให้เด็กดู ต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ การเชื่อมโยงเครือข่ายในโลกอินเตอร์เน็ต เทคนิคการใช้แสงในการแสดงภาพให้ปรากฎ เป็นต้น ที่สำคัญความที่พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า มีขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 3 ของโลก จะต้องมีการประสานกับกระทรวงพลังงาน นำโซลาเซลล์ มาช่วยในการประหยัดพลังงาน หรือ ประสานกับกระทรวงท่องที่ยวฯ โปรโมทให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือน ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการให้นำเด็กนักเรียนมาเที่ยวชม รวมทั้งจะต้องมีการประสานกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก นำเครื่องเล่นมาแลกเปลี่ยนมาแลกเปลี่ยนกัน ขณะที่แผนต่อจากนี้ จะต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์พระรามเก้ามาไว้รวมกันเพื่อให้เกิดเป็นชุมชนวิทยาศาสตร์ ต้องมีการเชื่อมโยง อพวช.ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของประเทศกับสื่อดิจิทัลหรือสื่อยุคใหม่ เพื่อทำให้ อพวช. เข้าถึงเยาวชนและประชาชนได้ง่าย และสามารถตอบโจทย์การเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตได้
     ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช.กล่าวว่า ภายในปี 2562 เราจะได้เห็นและสัมผัสกับพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ที่ทันสมัยและสมบูรณ์ที่สุดทั้งเรื่องของเนื้อหา การนำเสนอและระบบเทคโนโลยี ที่สำคัญพวกเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันสืบทอดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา พระองค์ทรงงานหนักมากมายเพื่อประโยชน์สุขของเราชาวไทยมาเป็นเวลายาวนานตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์
     ผอ.อพวช.กล่าวต่อว่า สำหรับระบบขนส่งมวลชนมีความสำคัญมากในการนำผู้เข้าชมให้เข้ามาเรียนรู้และร่วมกิจกรรมของ อพวช. ซึ่งมีกิจกรรมหมุนเวียนตลอดทั้งปี ขณะนี้ อพวช.กำลังเจรจากับจังหวัดปทุมธานี เพื่อเตรียมแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไว้รองรับพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ โดยในระยะแรกจะพัฒนาปรับปรุงเส้นทางรวมทั้งการเข้ามาร่วมให้บริการจาก ขสมก. ส่วนในระยะยาวจะได้หารือกับ สนข.เพื่อพัฒนาระบบรางสายรอง เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักต่อไป.