+EconomicsInsurance

ที่ประชุมหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยระหว่างประเทศ ถกรับมือความเสี่ยงใหม่ด้านประกันภัยและการลงทุน

           นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงการประชุม the Joint Conference on Synergies between Insurance and Pensions ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2562 ณ กรุงบราติสลาวา สาธารณรัฐสโลวัก ว่ามีวัตถุประสงค์ เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินและองค์กรต่างๆทั่วโลก กำลังให้ความสนใจ อาทิ การลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความท้าทายในการกำกับดูแลธุรกิจภายใต้บริบทใหม่ และในโอกาสเดียวกันนี้ ตนยังได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ รวมถึง Mr. Klime Poposki ประธานกรรมการบริหาร Insurance Supervisory Agency, Republic of North Macedonia เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจประกันภัยในยุโรป แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ซึ่งประเทศ North Macedonia มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่เป็นอิสระแยกออกจากภาคการเงินอื่น รวมถึงได้หารือแนวทางยกระดับความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลและการส่งเสริมการให้ความรู้ระหว่างหน่วยงานทั้งสอง

            สำหรับประเด็นที่สำคัญของการประชุม คือ Environmental, Social and Governance หรือ ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) โดยจากสถิติและการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การตัดสินใจลงทุนที่คำนึงถึง ESG มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น อันส่งผลต่อการเติบโตและผลประกอบการในระยะยาวของบริษัทในที่สุด ซึ่งทุกฝ่ายในที่ประชุม มีความเห็นตรงกันว่า ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบัน รวมถึงบริษัทประกันภัยและกองทุนบำนาญ ลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Climate risk กลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ

            นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและกรอบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทให้ครอบคลุมถึง ESG กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG risk) ต่อฐานะการเงินของบริษัท รวมทั้งเพิ่ม ESG risk ในการทดสอบ stress test เป็นต้น ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก บราซิล และเม็กซิโก ได้เริ่มมีการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG แล้ว

            อย่างไรก็ตาม ESG ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการหารือในหลายประเด็น เช่น การกำหนดนิยามที่ชัดเจน การเก็บข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานการบริหารความเสี่ยง สำหรับประเทศไทย นักลงทุนสถาบันรวมถึงบริษัทประกันภัยหลายแห่ง เริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง ESG แล้ว ซึ่งความท้าทายต่อไปคือ จะกำกับและส่งเสริมอย่างไร เพื่อให้ ESG ถูกหลอมรวมในกระบวนการตัดสินใจลงทุนและดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

                นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงใหม่ที่ หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจ คือ Outsourcing risk จากการ outsource กิจกรรมต่างๆ เช่น Cloud providers และ Pricing risk เนื่องจากรูปแบบการให้บริการและความคุ้มครองเปลี่ยนแปลงไป

                “การเข้าร่วมการประชุม The Joint Conference on Synergies between Insurance and Pensions ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงใหม่ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจประกันภัยและภาคการเงินอื่น หลายประเด็นที่เคยอยู่ไกลตัว เริ่มเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น ทำให้เห็นว่าบริบทในการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สำนักงาน คปภ. ต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ รวมถึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ การได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศออสเตรีย และบริษัทประกันภัยของกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีสาขาในประเทศออสเตรีย ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำมาต่อยอด เพื่อยกระดับระบบประกันสุขภาพของไทย ให้สามารถลดภาระและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น อันเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของสำนักงาน คปภ. ในปีนี้” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

            ทั้งนี้ การประชุม the Joint Conference on Synergies between Insurance and Pensions ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2562 ณ กรุงบราติสลาวา สาธารณรัฐสโลวัก จัดโดย สมาคมหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (The International Association of Insurance Supervisors : IAIS) องค์การระหว่างประเทศของหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนบำนาญ (The International Organization of Pension Supervisors: IOPS) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยมีธนาคารแห่งชาติสโลวะเกีย (The National Bank of Slovakia: NBS) เป็นเจ้าภาพในการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 130 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก