-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรีเยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์โครงการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

นราธิวาส ( 21 มิถุนายน 2566) เมื่อเวลาประมาณ 10.40 น.พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปเยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์โครงการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง บ้านโต๊ะแดง ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก ทั้งนี้เพื่อนำแนวทางในการพัฒนาไปปรับใช้ในพื้นที่ป่าพรุพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพื้นที่ป่าพรุ เนื่องจากในปี 2566 ทั่วโลกต้องรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมาช้าและฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่าปีที่แล้วทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งและนำไปสู่ปัญหาไฟไหม้ป่าในหลายพื้นที่

โอกาสนี้องคมนตรีและคณะรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำบริเวณรอบพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง พร้อมเยี่ยมชมสภาพพื้นที่โครงการฯ ณ บริเวณต้นคลองปาเสมัส จากนั้นเดินทางไปยังห้องประชุมศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการขอบเขตพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า และด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบขอบเขตพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง

ช่วงบ่าย องคมนตรีลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์พื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ภายในเส้นทางสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งเกิดจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนตลอดจนการสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศน์ ทั้งนี้เพื่อนำผลสำเร็จครั้งนี้ ไปเป็นแนวปฏิบัติในการขับเคลื่อนโครงการอื่นๆ ต่อไป โอกาสนี้องคมนตรีปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า พร้อมพบปะราษฎรในพื้นที่

จากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ให้รักษาป่าพรุเพราะมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดขอบเขตป่าพรุให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ อีกทั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 สรุปความว่าให้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงโดยเอื้อประโยชน์แก่ป่าและไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 ให้ทุกหน่วยงานประสานกัน เพื่อจัดทำการแบ่งเขตการใช้ที่ดิน (Zoning)

ต่อมาในปี 2555 มีพระราชดำริเพิ่มเติมสรุปความว่า การใช้ประโยชน์ในพื้นที่พรุ จังหวัดนราธิวาส ให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม พิจารณาใช้พื้นที่ตามขอบเขตที่กำหนด ซึ่งได้แก่ เขตพัฒนา คือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เขตอนุรักษ์ คือสภาพป่าที่ต้องสงวนรักษาไว้ เขตสงวน คือพื้นที่ที่ต้องรักษาสภาพอย่างเข้มงวด

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินงานสนองพระราชดำริโดยแต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดขอบเขตพื้นที่พรุโต๊ะแดง มีการบริหารจัดการการใช้พื้นที่ แบ่งออกเป็น เขตพัฒนา เขตอนุรักษ์ เขตสงวน และพื้นที่สำหรับใช้ในด้านอื่นๆ รวมเนื้อที่กว่าสองแสนไร่

ด้านการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริเพื่อเก็บน้ำและแยกน้ำจืด/น้ำเปรี้ยว จัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มสำหรับพื้นที่การเกษตรและการอุปโภคบริโภค ปรับปรุงคุณภาพดินและคุณภาพน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เช่นกำมะถันที่เกิดในพื้นที่ที่ต่อแนวเขตป่าและพื้นที่ของราษฎร รวมทั้งมีการกำหนดเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำป่าพรุโต๊ะแดงตามฤดูกาล

ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า มีสถานีควบคุมไฟป่าพรุโต๊ะแดง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบดำเนินการร่วม มีการสร้างเครือข่ายและจิตอาสาป้องกันไฟป่าป่าพรุโต๊ะแดง โดยฝึกอบรมให้ความรู้เบื้องต้นร่วมกับบูรณาการการลาดตระเวนป้องกันไฟป่าพรุโต๊ะแดงร่วมกัน

ด้านการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น หรือพืชผัก เพื่อสร้างอาชีพให้แก่ราษฎรบริเวณรอบพรุโต๊ะแดง โดยการปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเนื่องจากมีความทนทานต่อสภาพพื้นที่ โดยเน้นให้เกษตรกรดูแล บำรุงรักษาตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และจังหวัดนราธิวาส จัดทำแผนการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน และกำหนดยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

– ยุทธศาสตร์การบริหารขอบเขตพื้นที่พรุโต๊ะแดง

– ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่พรุโต๊ะแดงและบริเวณนอกพื้นที่

– ยุทธศาสตร์การควบคุมไฟป่าและการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าพรุโต๊ะแดง

และยุทธศาสตร์ การประกอบอาชีพและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบขอบเขตป่าพรุโต๊ะแดง

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตร่วมกับการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

Cr:กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.