-บทความ

นวัตกรรมคนไทยไม่ขึ้นหิ้ง! เปิดกรณีศึกษา สจล.กับภารกิจที่ไทยต้องมีเพื่อรับมือยามฉุกเฉิน”

กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2563 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ปล่อยคาราวานส่งมอบตู้ตรวจเชื้อโควิด-19 (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) และแบบความดันบวก (Positive Pressure) จำนวนกว่า 130 ตู้ โดยเตรียมส่งล็อตแรกในวันที่ 23 เมษายน 2563 จำนวน 50 ตู้ พร้อมขนทัพนวัตกรรมการแพทย์สู้โควิด-19 อาทิ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติ (Mini Emergency Ventilator) หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโควิด (UV-C Robot) และหุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ (Med Transporter Robot) ฯลฯ เตรียมส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง พร้อมเผยความสำเร็จของศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ในการดำเนินงานเพียง 1 เดือน กับผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์จำนวนมากที่ถูกผลิตออกมา เพื่อช่วยสังคมในภาวะวิกฤต ภายใต้ความสามารถอันไร้ขีดจำกัดของคนไทย ทั้งนี้ สจล. ยังคงเดินหน้าผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีความต้องการ โดยหากประชาชนสนใจสามารถร่วมบริจาคแปลงน้ำใจเป็นนวัตกรรมได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สจล. โดย ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ได้เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนนักรบแนวหน้า ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สจล. ได้รวมพลังกันพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม พร้อมนำเสนอแก่ทีมแพทย์ เพื่อรับฟังเสียงตอบรับ และนำมาปรับปรุง ต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อวงการการแพทย์ โดยล่าสุด สจล. ประสบความสำเร็จในการผลิตตู้เชื้อโควิด-19 (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) และแบบความดันบวก (Positive Pressure) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกการตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งรองรับการคัดกรองผู้ป่วยได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวพร้อมส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวนกว่า 50 ตู้ และเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 130 ตู้ ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้ไทยได้บทเรียนในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน เพราะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องราคาที่สูง และความจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องสำรองนวัตกรรมไว้ใช้กับประเทศตัวเองเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุนี้ จึงนับเป็นความจำเป็นที่คนไทยต้องหันมาพึ่งพาคนไทยด้วยกัน โดยการเร่งผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้ได้จริง เพื่อนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้น เมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป อาจถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องพิจารณาแผนการรับมืออย่างจริงจัง อย่างการตั้งโรงพยาบาลวิจัย ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อรับมือสถานการณ์ความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต อย่างไรก็ดี สจล. ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) เตรียมเดินหน้าจัดตั้ง “โรงพยาบาลวิจัย 60 ปี” เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางพัฒนาผลงานวิจัย โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยใช้การบูรณาการองค์ความรู้จากคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยอย่างยั่งยืน

“ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สจล. ระดมพลังกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์สู้โควิด-19 โดยยึดหลักการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ที่รับฟังเสียงตอบรับจากทีมแพทย์ เพื่อนำมาปรับปรุงผลงาน ให้ตรงตามความต้องการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ สจล. พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มที่ ในการผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยทุนบริจาคของประชาชนทั่วประเทศ และเตรียมส่งมอบนวัตกรรมให้แก่ 200 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ในเร็วๆ นี้” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

สำหรับโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่สนใจรับนวัตกรรมการแพทย์สู้โควิด-19 สามารถติดต่อสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 091-812-0416 หรืออีเมล kannika.li@kmitl.ac.th หรือประชาชนที่สนใจร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนการผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0