-Healthy

รักยังไง ไม่ให้ผู้สูงวัยในบ้านติดเชื้อโควิด-19

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดี กรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นส่วนมากจะติดเชื้อมาจากบุตรหลานวัยทำงานที่มีอัตราการป่วยสูง ที่สำคัญผู้สูงอายุที่ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 39 (จากจำนวนผู้เสียชีวิตโควิด-19 ในประเทศไทย 26 ราย) ดังนั้น ในช่วงเดือนเมษายนที่มีประเพณีสงกรานต์ บุตรหลานวัยทำงานไม่ควรกลับไปเยี่ยมพ่อ แม่ หรือผู้สูงอายุที่ภูมิลำเนา เพราะอาจนำเชื้อโรคไปสู่ท่านได้

แนะเปลี่ยนวิธีด้วยการสื่อสารช่องทางต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือเฟซบุค สำหรับผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านให้ยึดหลัก 3 ล. ปฏิบัติ ป้องกันติดโรโควิด-19 คือลดความเสี่ยงจากการสัมผัส ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และลดการแพร่เชื้อ อยู่บ้านให้สวมหน้ากากผ้า เลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค คนหนาแน่น เลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้า และดูแลสุขภาพตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับผิดชอบต่อสังคม หากกลับจากพื้นที่เสี่ยง ต้องแยกสังเกตอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน

ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ แนะนำผู้สูงอายุควรงดออกนอกบ้าน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องส้วม ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก แยกสำรับอาหารและแยกของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น อยู่ห่างจากบุตรหลานและผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร และเปลี่ยนวิธีการติดต่อสื่อสารกับบุตรหลานด้วยการใช้ โทรศัพท์ ไลน์ ทั้งนี้ สำหรับบุตรหลานวัยทำงานที่ออกนอกบ้านมีโอกาสรับเชื้อโรค เมื่อกลับเข้าบ้านควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ

สำหรับข้อแนะนำการใช้หน้ากากอนามัย ประชาชนทั่วไป ถือเป็นขยะทั่วไป ให้จำกัดโดยจับสายรัดและถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง (ไม่สัมผัสตัวหน้ากาก) ทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดที่ใกล้ที่สุดทันที จากนั้นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และแนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า โดยล้างมือให้สะอาดก่อนสวมอย่างถูกวิธี หลังใช้ซักด้วยผงซักฟอก ตากแดดจนแห้ง และเปลี่ยนทุกวัน หากเป็นผู้ป่วยหรือต้องดูแลผู้ป่วยในบ้าน เลือกใช้หน้ากากอนามัย หลังใช้ล้างมือให้สะอาดและทิ้งหน้ากากอนามัยลงถังที่มีฝาปิดมิดชิด ส่วนผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังที่ต้องกักกันตัวเองที่บ้าน (Self-Home Quarantine) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ติดตามผู้กักกันตัวเองที่บ้าน หน้ากากอนามัยอาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เมื่อใช้งานแล้วให้จับสายรัดและถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง (ไม่สัมผัสตัวหน้ากาก) เก็บใส่ถุงขยะ 2 ชั้น และทำลายเชื้อเบื้องต้น โดยราดน้ำยาฟอกขาวมัดปากถุงให้แน่น ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

หน้ากากอนามัยของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นขยะติดเชื้อ ต้องล้างมือให้สะอาด สวมอย่างถูกวิธี ใช้ครั้งเดียว และทิ้งลงถังขยะติดเชื้อ ก่อนนำไปทำลายอย่างถูกวิธี