วันศุกร์, กันยายน 13, 2024
Latest:
-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี

เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างโครงการฝายทดน้ำวังครกพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี พร้อมกันนี้ผู้แทนกรมชลประทาน ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฝายทดน้ำวังครกพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยในปี 2562 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานจำนวน 50,182,000 บาท ปัจจุบันได้ดำเนินการวางระบบท่อส่งน้ำพร้อมอุปกรณ์ประกอบ และจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าการก่อสร้างฝายทดน้ำวังครก จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2563 นี้ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของราษฎรหมู่ที่ 7, 8 และ 13 ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 515 ไร่ ราษฎร 164 ครัวเรือน จำนวน 492 คน สามารถทำเกษตรกรรมได้เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เกษตรกร จะปลูกพืชผัก สัปปะรด มันสำปะหลัง ยางพารา และหัวไชเท้า โดยมีการแปรรูปเป็นไชโป๊นอกจากนั้นยังสามารถส่งน้ำไปเติมอ่างเก็บน้ำบ้านบึงใต้ และอ่างเก็บน้ำพุขี้เหล็ก เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณอ่างเก็บน้ำดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น 600 ไร่ อีกด้วย

โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะ รับฟังการบรรยายสรุปผลการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง จากผู้แทนสำนักงาน กปร. ซึ่งมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเขตพื้นที่ภาคกลาง จำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ จากการติดตามของคณะอนุกรรมการที่ผ่านมา สามารถขับเคลื่อนโครงการฯ จำนวน 8 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงาน กปร และอยู่ระหว่างการตรวจสอบและการดำเนินการอีกจำนวน 6 โครงการ

จากนั้น ผู้แทนกรมชลประทาน ได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ตลอดจนผลการดำเนินงานของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จำนวน 6 แห่ง ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 “ให้พิจารณาโครงการและก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำในการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค” สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จำนวน 5 แห่ง เพื่อช่วยเหลือราษฎรในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ประกอบด้วย

1) โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาดความจุ 585,280 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือราษฎร จำนวน 70 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 1,600 ไร่ 2) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาดความจุ 270,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือราษฎร จำนวน 100 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 1,300 ไร่ และยังใช้เพื่อการทำประปาของหมู่บ้านอีกด้วย 3) โครงการอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาดความจุ 612,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือราษฎร จำนวน 125 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 1,000 ไร่ 4) โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาดความจุ 596,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือราษฎร จำนวน 280 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 750 ไร่ และ5) โครงการอ่างเก็บน้ำหินสีตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาดความจุ 1,064,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือราษฎร จำนวน 160 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 1,700 ไร่

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง มีสภาพสมบูรณ์สามารถช่วยเหลือราษฎรตำบลยางหักได้อย่างทั่วถึง ในการบริหารจัดการน้ำ ดำเนินการโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาสภาพพื้นที่อ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำร่วมกับโครงการชลประทานราชบุรี ทั้งนี้ได้ส่งผลให้การทำการเกษตรของราษฎรทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสามารถนำน้ำมาใช้ในการทำประปาให้แก่ราษฎรได้อีกด้วย ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านโปร่งพรหมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 6 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2564 กรมชลประทาน จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุ 206,400 ลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรต่อไป

ต่อมา คณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี พร้อมกับรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดฯ โอกาสนี้ได้พบปะผู้แทนกลุ่มราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จากนั้น องคมนตรี ปลูกต้นไม้บริเวณริมอ่างฯ และร่วมปล่อยปลา เพื่อแพร่ขยายพันธุ์และเป็นแหล่งโปรตีนให้กับราษฎรในพื้นที่ต่อไป

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2530 อ่างเก็บน้ำมีขนาดความจุ 4.3 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ Pumping (ระบบส่งน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ) ความยาวรวม 20.935 กิโลเมตร และระบบ Gravity (ระบบส่งน้ำแบบโดยแรงโน้มถ่วงของโลก) ความยาวรวม 5.952 กิโลเมตร ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำพร้อมระบบส่งน้ำใช้งานได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรให้แก่ราษฎร ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านค่า จังหวัดราชบุรี โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 6,000 – 7,000 ไร่ มีกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด ซึ่งมีสมาชิก จำนวน 129 ราย ราษฎรส่วนใหญ่ปลูกผัก สับปะรด อ้อย และลำใย

ต่อมา ได้เดินทางไปยังแปลงเกษตรของ นางนิศรา สุขสีขาว ราษฎร ที่ได้รับประโยชน์จากโครงอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเดิมมีอาชีพเป็นลูกจ้างในโรงงานเป็นเวลาถึง 20 ปี แต่ชีวิตก็ยังไม่มีอะไร จึงคิดหันมาทำเกษตรในพื้นที่ของครอบครัวจำนวน 40 ไร่ โดยปลูกข่า ขายและรับซื้อจากเพื่อนบ้าน ส่งขายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันชีวิตเปลี่ยนไปมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงมีบ้าน มีรถยนต์เป็นของตัวเอง ปราศจากหนี้สิน ชีวิตมีความสุขดังพระราชประสงค์ที่ได้พระราชทานไว้อย่างแท้จริง