สธ.เดินหน้ายุติปัญหาเอดส์ ไม่ติด-ไม่ตาย-ไม่ตีตรา ในไทย
(6 กุมภาพันธ์ 2563) โรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ Dr.Thierry Roels ผู้อำนวยการโครงการเอชไอวีและวัณโรคโลก สำนักงานประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และนายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ร่วมเปิดโครงการเครือข่ายยุติเอดส์ในกรุงเทพมหานคร (Network to Ending AIDS in Bangkok : NEAB) ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ “ไม่ติด-ไม่ตาย-ไม่ตีตรา” ดังนี้
1.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เหลือไม่เกิน 1,000 รายต่อปี 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3.ลดการเลือกปฏิบัติ อันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90 โดยจะดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายโลกให้บรรลุ 95-95-95 ในปี 2573
นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า โครงการเครือข่ายยุติปัญหาเอดส์ในกรุงเทพมหานคร ผ่านวิดีโอที่จัดขึ้นในครั้งนี้ โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนของโครงการเอชไอวีและวัณโรคโลก ประจำประเทศไทย (PEPFAR) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย ปี 2561 คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 คน กำลังรับยาต้านไวรัส 358,606 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอชไอวี 18,000 คน และติดเชื้อรายใหม่ 6,400 คน ซึ่งพบว่ากรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด และเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง แต่การให้บริการดูแลรักษาเอชไอวียังไม่ครอบคลุม ทำให้ในปี 2563 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการ ป้องกัน ดูแลรักษา กลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และระบบข้อมูลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มโรงพยาบาลชั้นนำอีก 9 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลภาครัฐขนาดใหญ่ที่ผู้ติดเชื้อฯ จำนวนมากกำลังรับการดูแลรักษาอยู่ พร้อมเรียนรู้จากโรงพยาบาลในเครือข่ายให้เป็นต้นแบบการยุติปัญหาเอดส์ในกรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “เสี่ยงแล้วไม่ติด ติดแล้วกินยา กินยาอย่างสม่ำเสมอ”
ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันนโยบาย เช่น การสนับสนุนงบประมาณ เวชภัณฑ์ ยา และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เพียงพอ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร พร้อมสนับสนุนให้มีกองทุนสุขภาพให้สิทธิประโยชน์ในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและยาต้านไวรัส เพื่อการรักษาฟรี เริ่มด้วยการให้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ฟรี ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย ในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้งเร่งหาแนวทางให้กับคนที่ไร้สิทธิ และลดช่องว่างของแต่ละสิทธิ์ เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ได้เข้าถึงบริการป้องกันและดูแลรักษาอย่างครอบคลุม พร้อมจัดบริการและระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคมให้ครอบคลุมทุกสิทธิประโยชน์
อีกส่วนที่มีความสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์ ไม่ใช่แค่การรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมเรื่องการสร้างความรอบรู้เรื่องเอชไอวีให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเรื่องการตรวจเอชไอวีเพื่อรู้เร็วจะได้รักษาทันที การป้องกันเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง ปัญหาการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติ อันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์ ในปี 2573 จึงขอให้ทุกคนและทุกหน่วยงาน ร่วมมือร่วมใจกันเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลและแก้ไข ช่วยกันปรับทัศนคติของประชาชนว่า เอดส์เป็นโรคที่รักษาได้ เพียงแค่กินยาอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบและลดการรังเกียจ “เอดส์ป้องกันและรักษาได้ รู้เร็ว รักษาเร็ว จนตรวจไม่พบเชื้อฯ เท่ากับ ไม่ถ่ายทอดเชื้อ” ประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AIDS zero portal https://azp.ddc.moph.go.th/epidemic.php หรือสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422