-ข่าวพระราชสำนัก

องคมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางช่วยเหลือราษฎรช่วงหน้าแล้ง จ.สุพรรณบุรี

            สุพรรณบุรี ( 22 มกราคม 2563) เมื่อเวลา 11.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โอกาสนี้ รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการเขื่อนกระเสียว และแนวทางการให้ความช่วยเหลือราษฎรช่วงหน้าแล้ง การปฏิบัติการฝนหลวง จากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

            จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนกระเสียว ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2524 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาอุทกภัยของเขตท้องที่อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอสามชุก โดยเขื่อนกระเสียวมีลักษณะเป็นเขื่อนดิน เก็บกักน้ำสูง 32.50 เมตร ยาว 4,250 เมตร ปิดกั้นลำห้วยกระเสียว ปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกักสูงสุด 390 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบการส่งน้ำ คลองส่งน้ำสายใหญ่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา รวมทั้งมีคลองซอยและคลองแยกซอยของคลองสายใหญ่ทั้งสองฝั่ง รวม 5 สาย สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝน 130,000 ไร่ ฤดูแล้ง 65,000 ไร่ และช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตโครงการท่าโบสถ์ล่าง และโครงการสามชุก รวม 350,000 ไร่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ อีกด้วย

            ต่อมา เวลา 13.30. น. องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่ออันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ พร้อมพบปะราษฎรรับทราบชีวิตความเป็นอยู่และการใช้ประโยชน์จากโครงการฯ

            โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่ออันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2523 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของห้วยกระเสียว เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรตามหมู่บ้านต่าง ๆ บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำกระเสียว ในเขตอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนฤดูแล้ง และมีน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยพระราชทานแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ที่ทรงวางโครงการไว้ให้กรมชลประทานพิจารณา ต่อมาในปี 2525 จึงก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จในปี 2526 ลักษณะเป็นเขื่อนดิน ทำนบดินกว้าง 6 เมตร ยาว 500 เมตร สูง 15 เมตร มีขนาดความจุ 2.80 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 3,000 ไร่ ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานแล้ว จำนวน 1 กลุ่ม