-Healthy

มหิดลเปิดตัวโครงการวิจัย“สุขภาพหนึ่งเดียวและการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย”

กรุงเทพฯ 18 ธันวาคม 2562 – มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และเครือข่าย เปิดตัวโครงการวิจัย“สุขภาพหนึ่งเดียวและการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย” โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นประธานเปิดงาน พร้อมนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมศาสตราจารย์ นพ. วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร้อยตรีพงศธร ศิริสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ผู้ช่วยประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายธุรการวิทยาศาสตร์ และเครือข่ายวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แสดงปาฐกถา เรื่อง “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กับ วิกฤติเชื้อดื้อยา”พร้อมทั้ง การเสวนาเรื่อง “สุขภาพหนึ่งเดียว: ทางเลือก และ ทางรอดจากวิกฤติเชื้อดื้อยา” โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการวิจัย“สุขภาพหนึ่งเดียวและการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย”เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน คือมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักรและมหาวิทยาลัยเครือข่าย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก Medical Research Council สหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่มุ่งเน้นการศึกษาขนาดปัญหาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะในคน สัตว์ พืช อาหารและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Healthapproach)

รองศาสตราจารย์ ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การดื้อยาปฏิชีวนะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์ทั่วโลก เนื่องจากทำให้ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะลดลงหรือหมดไป ไม่สามารถยับยั้งหรือทำลายเชื้อโรคดังกล่าวได้ โดยในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข โดยพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละประมาณ 80,000 ราย ต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตสูง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์กับการดื้อยาปฏิชีวนะมีความซับซ้อนเชื่อมโยงทั้งเชื้อจุลชีพ การปศุสัตว์ ระบบบริการสุขภาพ การเกษตร พฤติกรรมของการดำเนินชีวิต จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อผลสำเร็จในการแก้ปัญกาในระยะยาวและยั่งยืน โดยแต่ละสถาบันจะทำหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยบริสตอล นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล มหาวิทยาลัยบาธ มหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ และสถาบันอื่นๆ ให้คำแนะนำและร่วมดำเนินการโครงการ
2. สถาบันวิจัยจุฬาภณ์ จะทำหน้าที่ตรวจวัด วิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนที่ใช้ในการเกษตรและแร่ธาตุต่างๆ ที่เกิดตามธรรมชาติและนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ
3. มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในกลุ่มเป้าหมายที่เก็บจากประชาชน สัตว์ อาหาร และสิ่งแวดล้อมศึกษาลักษณะทางกายภาพและพันธุกรรมของแบคทีเรียดื้อยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ทำการศึกษาการใช้ยาต้านแบคทีเรียและการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียในสัตว์ ทั้งด้านปริมาณและรูปแบบการใช้ยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะทำการศึกษามิติทางสังคมวัฒนธรรมของการใช้ยาปฏิชีวนะและการดื้อยา ศึกษาเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม พฤติกรรมเศรษฐกิจและระบบสุขภาพที่กำหนดการใช้ยา เชื่อมโยงปัญหาการดื้อยาซึ่งในการเดินหน้าโครงการได้รับความร่วมมือจากจังหวัดนครปฐมในการใช้พื้นที่อำเภอบางเลนเป็นพื้นที่ต้นแบบในการปฏิบัติการวิจัย ระหว่างปี2561 – 2563 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี

ทั้งนี้ข้อมูลที่จะได้จากโครงการนี้จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนามาตรการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น