วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Latest:
-บทความ

กระจูด พืชท้องถิ่นสู่งานหัตถกรรมสร้างอาชีพ

            กระจูด เป็นพันธุ์ไม้จำพวกกก (Sedge) ชนิดหนึ่งในตระกูล Cyperaccae ลักษณะลำต้น กลม กลวง ความสูงประมาณ 1–3 เมตร เป็นพืชที่ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขัง ตามริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน พบมากแถบภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย กระจูด มี 2 ชนิด คือ จูดใหญ่ และจูดหนู จูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนจูดหนูมีลำต้นเล็กและสั้น ความเหนียวน้อยกว่าจูดใหญ่

ก่อนจะมาเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์กระจูด งานส่งเสริมอุตสาหกรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีพระกระแสรับสั่งกับองคมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. 2524 ให้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสานและนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่ดินพรุ พบว่า ในพื้นที่พรุมีต้นกระจูดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ราษฎรได้นำมาใช้สานเสื่อกระจูด เพื่อใช้เองและจำหน่ายเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการพัฒนารูปแบบและการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแต่อย่างใด จึงได้มีการพัฒนาให้คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ กำหนดเป็นนโยบายให้จัดตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์กระจูดขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2527

การใช้ประโยชน์จากกระจูด

ราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีผู้ว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ก็ยังมีพืชเส้นใยจำพวก กระจูด เตย และปาหนัน ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ งานส่งเสริมอุตสาหกรรม  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นหน่วยงานที่ให้การส่งเสริม สนับสนุนด้านการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์เส้นใยพืชและการทอผ้า มีการจัดทำโครงการฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืชและผ้าทอพื้นเมือง ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านนำต้นกระจูด มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคใต้ ผลิตภัณฑ์ที่รู้จักทั่วไป คือ เสื่อกระจูด นอกจากนั้นยังผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กระสอบสำหรับบรรจุสิ่งของ และยังมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย เช่น กระเป๋า กระบุง ตะกร้า เป็นต้น กลายเป็นผลิตภัณฑ์จากกระจูดที่มีความสวยงาม มีลวดลายสีสันต่างๆ เป็นที่สนใจแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

ขั้นตอนการนำกระจูดมาใช้

 1.ตัดต้นกระจูดที่ยาวและสมบูรณ์

2.คลุกโคนต้นกระจูดด้วยน้ำโคลนขาวให้เปียกทั่วก่อนนำไปตากแดด เพื่อเพิ่มความเหนียวให้กับเส้นใย ช่วยให้กระจูดแข็งตัว ไม่แห้งกรอบ (การผสมน้ำกับโคลน ต้องไม่เหลวหรือข้นจนเกินไป ทดสอบโดยจุ่มมือลงไปให้น้ำโคลนเกาะนิ้วมือ)

3.การนำไปผึ่งแดด

             – นำไปตากแดดแบบกระจายเรียงเส้น เพื่อให้กระจูดแห้งเร็ว

             – ถ้าแดดจัดตากประมาณ 2-3 วัน ให้สังเกตที่ทับกระจูดตรงโคนต้น ถ้าทับแยกออกแสดงว่าต้นกระจูดนั้นแห้งแล้วให้ทำการถอดทับกระจูดออก

  1. คัดเลือกต้นกระจูด แยกขนาดเล็ก-ใหญ่มัดไว้เป็นกำ
  2. นำกระจูดไปรีดให้แบน ซึ่งการรีดมี2 วิธี คือ

              – ใช้เครื่องจักรรีด

              – ใช้ลูกกลิ้งรีด ลูกกลิ้งทำจากวัสดุทรงกลม ที่มีน้ำหนักพอเหมาะ เช่น ท่อซีเมนต์ ท่อเหล็กกลม

  1.  การย้อมสี (สีเคมี)

              – แบ่งกระจูดออกเป็นมัด มัดละ 20-25 เส้น แล้วนำสายยางมัดที่ปลายกระจูดเพื่อไม่ให้เส้นกระจายออกเวลานำไปย้อมสี

             – นำกระจูดไปจุ่มน้ำให้ชุ่มแล้วย้อมสีตามที่ต้องการในถังต้มสี ซึ่งเดือดได้ที่แล้วประมาณ 15-20 นาที

             – ยกกระจูดขึ้นจากถังสี แล้วล้างน้ำสะอาดเพื่อล้างสีส่วนเกินออก

             – นำกระจูดไปตากที่ราว ผึ่งลมให้แห้ง

             – มัดเส้นกระจูดที่แห้งแล้วรวมกัน เพื่อนำไปรีดใหม่อีกครั้งให้เส้นใยนิ่มและเรียบ

  1. การจักสาน

   นำต้นกระจูดที่เตรียมไว้มาจักสานเป็นลวดลาย ถ้าสานเสื่อจะเริ่มต้นจากริม คือ ตั้งต้นสานจากปลายด้านใดด้านหนึ่งไปจนสุดปลายอีกด้านหนึ่ง ถ้าเป็นภาชนะ จะเริ่มต้นจากกึ่งกลางงาน มิฉะนั้นจะทำให้เสียรูปได้ เพราะขนาดของต้นกระจูดส่วนโคนจะใหญ่กว่าส่วนปลาย การสานเสื่อจะมีลายต่างๆ เช่น ลายสาม ลายสี่ ลายดอกจันทร์ ลายดอกพิกุล ลายลูกแก้ว ลายดอกไม้ ลายที่นิยมมากที่สุดคือ ลายสอง ผลิตภัณฑ์ที่สามารถจักสานได้มีหลากหลาย เช่น เสื่อ หมอน กระเป๋า กระบุง ที่รองแก้ว ที่รองจาน

  1. การตกแต่งส่วนประกอบอื่น ๆ

   งานสานเสื่อกระจูดเป็นงานที่เกือบจะทำเสร็จเรียบร้อยในคราวเดียว มีการตกแต่งเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย คือ การเก็บริมหรือพับริม ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เป็นเสื่อปูนั่ง แต่หากต้องการนำเสื่อที่สานเสร็จแล้วไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือกระเป๋าที่สานเสร็จเรียบร้อยแล้ว (แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ เรียกว่า กระเป๋าตัวดิบ) ซึ่งต้องมีอุปกรณ์ประกอบเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถใช้งานได้ คงทน และเพื่อความสวยงามให้กับผลิตภัณฑ์
เอกลักษณ์ทั่วไปของผลิตภัณฑ์จากกระจูด

ผลิตภัณฑ์จากกระจูด มีลักษณะที่โดดเด่น คือ จะมีความนุ่มและสวยงามคงทนทำจากวัสดุท้องถิ่นซึ่งหาได้ในธรรมชาติ ย้อมสีตามต้องการ เน้นดอกและลวดลายของผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด ฝีมือปราณีต รูปแบบสวยงามทันสมัย

จากการที่งานส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้มีการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรด้านการผลิตเส้นใยพืชและผ้าทอพื้นเมืองให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นและมีโอกาสขยายตลาดให้แพร่หลาย อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการว่างงานของราษฎรในพื้นที่ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ โดยงานส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เกษตรกรที่ต้องการความรู้และต้องการสร้างอาชีพเสริมในครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายขอบข่ายการดำเนินงานให้ครอบคลุมหมู่บ้านรอบศูนย์ 13 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านคีรี บ้านเปล บ้านอ่าวมะนาว บ้านโพธิ์ทอง บ้านเขาตันหยง บ้านโคกสยา บ้านยาบี บ้านค่าย บ้านใหม่ และ บ้านพิกุลทอง ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและต่างจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรจนสามารถแปรรูปเส้นใยพืชและผ้าทอพื้นเมือง ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้นจนสามารถส่งจำหน่ายได้มากขึ้น

สำหรับเกษตรกรและชาวบ้านที่มีความสนใจฝึกทักษะงานหัตถกรรมจากกระจูดเพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ งานส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ     โทร 073-631033 , 073-631038

บทความ โดย นายพีระพงศ์ สุวรรณนิล
หัวหน้างานส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ