อรุณรุ่งของปูม้า..
“ธนาคารปู” อรุณรุ่งของทรัพยากรปูม้าที่อ่าวคุ้งกระเบน
ปัจจุบัน ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในเขตน่านน้ำของประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะที่เข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากการใช้ทรัพยากรแบบเกินสมดุลธรรมชาติ ด้วยปริมาณของเครื่องมือประมงที่มีจำนวนมาก ปริมาณความต้องการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่ง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ ทำอย่างไรจึงจะทำการฟื้นฟูหรือกอบกู้สถานการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้น เราไม่สามารถจะดำเนินการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะคาดหวังว่าจะสำเร็จได้ การใช้มาตรการปิดอ่าว การประกาศข้อห้ามทางการทำประมงในบางพื้นที่ การลดจำนวนเครื่องมือประมงประเภททำลายล้างลงในบางเขต และรวมถึงกิจกรรมใด ๆ ของมนุษย์ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น มาตรการต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนแต่มีส่วนสนับสนุนให้ท้องทะเลของไทยได้รับการฟื้นฟู
รูปแบบของการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำมีแนวโน้มที่ดีและยั่งยืนรูปแบบหนึ่ง คือ การสร้างและรักษาพันธุ์สัตว์น้ำให้คงอยู่เพื่อรักษาปริมาณสัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับท้องทะเลอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การสร้างแหล่งพ่อแม่พันธุ์ ของหอยนางรมปากจีบ การทำธนาคารปูม้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธนาคารปูม้า” ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลดีต่อปริมาณทรัพยากรปูม้าในเขตพื้นที่ที่ดำเนินการ รวมถึงการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจระหว่างภาคราชการ กลุ่มชาวประมงและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความร่วมมือที่ดีจากประชาชนในพื้นที่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี โดยงานส่งเสริมการพัฒนาและฝึกอบรมอาชีพทางด้านประมงได้ดำเนินกิจกรรม “ธนาคารปูม้า” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ โดยหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำภายในอ่าวคุ้งกระเบน เริ่มต้นจากการใช้กระชังเป็นพื้นที่พักรอให้แม่ปูม้าทำการเขี่ยไข่เอง แต่การดำเนินในลักษณะดังกล่าวยุ่งยากต่อการตรวจสอบแม่ปูม้าว่าเขี่ยไข่แล้วหรือไม่ โดยต้องทำการเก็บรั้งกระชังขึ้นดูทุกวัน เพื่อส่งคืนแม่ปูที่เขี่ยไข่แล้วให้เจ้าของ ธนาคารปูม้ารูปแบบนี้มีข้อจำกัดมากมาย เช่น ความลึกของน้ำ สภาวะคลื่นลม ขนาดของกระชัง ต่อมาในปี ๒๕๔๑ จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นตะกร้าพลาสติกทรงสูงพร้อมทุ่นลอยในการพักรอแม่ปู พบว่าวิธีนี้ดีกว่าวิธีแรกด้วยเหตุผลว่า ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ตรวจสอบง่าย สามารถจัดหาได้ง่ายและราคาถูก แต่วิธีนี้มีข้อด้อยที่ตะกร้ามีการโยกคอนอย่างมากถ้ามีคลื่นลม ส่งผลให้แม่ปูเกิดความบอบช้ำ นำไปจำหน่ายต่อไม่ได้ราคา ต่อมาในปี ๒๕๔๕-๒๕๕๕ ได้เปลี่ยนรูปแบบของตะกร้าทรงแบนพร้อมติดทุ่น รูปแบบนี้สะดวกกว่าแต่มีข้อเสีย คือได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันของเรือประมงที่อยู่ใกล้เคียงได้ง่ายกว่ารูปแบบที่สอง รูปแบบนี้แม่ปูจะไม่มีสภาพบอบช้ำสามารถนำกลับไปขายได้ราคาดี
ต่อมาในช่วงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๙ บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด(มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการธนาคารปูม้ากับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ รูปแบบที่สี่ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ กับบริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด(มหาชน) โดยการติดตั้ง “ระบบฟักไข่สัตว์น้ำแบบ Circulation And Separation Hatching Technique (CASHT)” บนพื้นที่ของหน่วยสาธิตฯ ระบบดังกล่าวประกอบด้วยถังพลาสติกความจุประมาณ ๑๕๐ ลิตร จำนวน ๗ ใบ เชื่อมทางน้ำต่อเนื่องกันเองแล้วเชื่อมต่อกับถังทรงกรวยสำหรับแยกไข่กับลูกปูระยะแรกฟักดังภาพที่ ๔ ถังน้ำทรงกรวยที่ใช้สำหรับแยกลูกปูม้าระยะแรกฟักและไข่ปูที่ยังไม่ได้ฟักออกเป็นตัว โดยใช้หลักการเคลื่อนที่ที่แตกต่างกัน ในถังนี้จะมีการให้อากาศในถังเบาบางกว่าถังหมายเลข ๑ ถึง ๗ มาก แต่จะเพิ่มลมที่จะใช้ในการยกน้ำในท่อ(air lift)เพื่อพาไข่ปูที่จมตัวลงมาที่ก้นถังกรวยตามแรงโน้มถ่วงของโลก นำกลับไปเริ่มต้นที่ถังหมายเลข ๑ อีกครั้งจะหมุนเวียนต่อเนื่องจนกว่าจะฟักออกเป็นตัว ส่วนลูกปูม้าระยะโซเอี้ย(zoea)จะว่ายน้ำขึ้นมาหาแสงที่ผิวน้ำจำนวนมาก ลูกปูทั้งหมดจะล้นออกที่ท่อน้ำล้นในถังกรวยผ่านลงสู่กระชังกรองลูกปูเพื่อรอรวบรวมแล้วปล่อยลงสู่อ่าวคุ้งกระเบนหลังเวลา ๒๑.๐๐น. เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกินโดยฝูงปลาผิวน้ำที่หากินช่วงกลางวันและช่วงรอยต่อของแสง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปล่อยลูกปูระยะดังกล่าวคือ เวลา ๒๑.๐๐ น. ถึง ๐๓.๐๐ น. ระบบนี้สามารถควบคุมเวลาได้ดีกว่า การนำแม่ปูม้าที่ผ่านการเขี่ยไข่เพื่อนำเข้าสู่ระบบเพาะฟักสามารถทำได้ตลอดเวลา และสามารถนำแม่ปูม้าดังกล่าวเข้าสู่โรงต้มปูหรือไปจำหน่ายแบบปูม้ามีชีวิตต่อได้ทันที
ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากเรือประมงลอบปูขนาดใหญ่ เรือลอบปูขนาดเล็ก หรือแม้แต่ผู้จำหน่ายปูม้ามีชีวิต ต่างก็บริจาคไข่ปูเข้าร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการติดตั้งระบบเมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๕๕ จนถึงวันเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ นี้ มีจำนวนแม่ปูม้าขนาดใหญ่ที่นำเข้าระบบเพาะฟักไข่ปูนี้รวมทั้งสิ้นกว่า ๔๓๑,๐๔๔ ตัว คิดเป็นน้ำหนักไข่ปูไม่น้อยกว่า ๙,๗๘๓.๘ กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพยากรปูม้าที่เกิดจากโครงการ“ธนาคารปูม้า” มีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชาวประมงในพื้นที่สามารถจับปูม้าได้ตลอดทั้งปี และมีผลผลิตปูม้าในทะเลที่จับขึ้นเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ๑๐ % การดำเนินงานโครงการ “ธนาคารปูม้า” ที่อ่าวคุ้งกระเบนแห่งนี้กำลังเป็นที่กล่าวขานถึงความสำเร็จ ความหวัง ความร่วมมือจากผู้คนมากมายที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะกล่าวได้ว่า “ธนาคารปู” แห่งนี้เป็นอรุณรุ่งของทรัพยากรปูม้าที่อ่าวคุ้งกระเบนอย่างแน่นอน
โดย…นายฐกร ค้าขายกิจธวัช นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ