สอศ.ปรับวิธีประเมินศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา เฟ้นหาสุดยอดศูนย์ฯ ระดับชาติ 5 ดาว
ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีนโยบายในการส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้เรียนอาชีวศึกษาผ่านกระบวนการของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ.ทุกแห่ง โดยการนำผลิตภัณฑ์หรือชิ้นงานที่เกิดจากการเรียนการสอนหรือความสนใจส่วนบุคคลของนักศึกษามาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้การทำธุรกิจและมีรายได้ระหว่างเรียน โดย สอศ.กำหนดให้มีการประเมิน ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบต่อเนื่องในทุกปีตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินที่สอศ.กำหนด เพื่อประเมินศักยภาพการดำเนินงานของสถานศึกษาและหาแนวทางในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ขั้นตอนของการประเมินแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ โดยสถานศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับจังหวัด 3 ดาว (ต้องได้รับคะแนนร้อยละ70 ขึ้นไป) จึงจะผ่านเข้ารับการประเมินในระดับภาค และสถานศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับภาค 4 ดาว (ต้องได้รับคะแนนร้อยละ80ขึ้นไป) จึงจะผ่านเข้ารอบ การประเมินในระดับชาติได้
สำหรับเกณฑ์ในการประเมินศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา ระดับชาติ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการนำเสนอธุรกิจที่เป็นธุรกิจเดียวกับธุรกิจที่ใช้ในการประเมินระดับภาค จำนวน 40 คะแนน การนำเสนอผลการดำเนินงาน จำนวน 20 คะแนน และการสัมภาษณ์ผู้เรียนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ จำนวน 40 คะแนน รวมเป็น 100 คะแนน โดยผู้ได้รับการประเมินระดับ 5 ดาว จะต้องได้คะแนนร้อยละ 90 ขึ้นไป
“ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 นี้ เป็นปีแรกที่ สอศ.ดำเนินการจัดการประเมินโดยส่วนกลาง เพื่อให้การประเมินเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีสถานศึกษา 90 แห่งที่ผ่านการประเมินระดับภาค 4 ดาว เข้าร่วมรับการประเมินในระดับชาติ และมีคณะกรรมการประเมินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนจากสถานประกอบการ สถาบันการเงิน และหน่วยงานด้านพาณิชย์ ซึ่งสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินระดับชาติจะได้รับเกียรติบัตร และสถานศึกษาที่มีผลการประเมินระดับชาติ 5 ดาว จะได้รับโล่รางวัล เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นแบบอย่างของการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาในการส่งเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้เรียน” ดร.ประชาคม กล่าว