วันศุกร์, กันยายน 13, 2024
Latest:
-AgriEconomics

ศสพ.ฉะเชิงเทรา ศึกษาวิจัยบัวบก 5 สายพันธุ์ เล็งส่งเสริมเกษตรกรปลูกเชิงพาณิชย์

            “บัวบก” เป็นผักพื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีสรรพคุณมากมาย เกษตรกรสามารถปลูกและขายได้ แต่การปลูกให้มีผลผลิตสูงจะมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน การดูแลรักษา การให้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม และเทคนิคการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดถึงพันธุ์ที่ปลูกก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ผลผลิตออกมาแตกต่างกัน

            สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง  โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตบัวบก 5 พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ระยอง พันธุ์ฉะเชิงเทรา  พันธุ์นครปฐม  พันธุ์หนองบัวลำภู  และพันธุ์นครศรีธรรมราช ที่เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อศึกษาพันธุ์บัวบกที่เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการส่งเสริมการปลูกบัวบกของเกษตรกรในเชิงพาณิชย์ต่อไป

            นายสมเกียรติ คุ้มกัน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเกษตรฉะเชิงเทรา หนึ่งในคณะศึกษาวิจัยเปิดเผยว่าการวิจัยเรื่องบัวบกครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตร  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบสายพันธุ์ของใบบัวบกว่ามีกี่สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ส่วนใหญ่เป็นดินทราย  โดยจะตรวจสอบว่าชนิดไหนเมื่อนำมาปลูกแล้วได้ผลผลิตดีที่สุด มีการเจริญเติบโตที่เหมาะสม จากนั้นจะนำพันธุ์ดังกล่าวไปส่งเสริมแก่เกษตรกรทำการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ต่อไป

                “ตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการมาประมาณ 3 เดือนแล้วและจะสิ้นสุดประมาณเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมา ประเมินเป็นการเบื้องต้นมี 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์หนองบัวลำภูกับพันธุ์ระยอง มีการเจริญเติบโตดี และเหมาะสมกับสภาพดินและภูมิอากาศของตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีลักษณะดินจะเป็นดินทราย การศึกษาครั้งนี้เพื่อหาคำตอบว่ามีพันธุ์ไหนที่เหมาะแก่การนำมาเป็นสมุนไพรเกี่ยวกับสุขภาพ  จากนั้นนำมาต่อยอดด้วยการวิจัยเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำใบบัวบกที่ผู้บริโภคนิยมต่อไป” นายสมเกียรติ คุ้มกัน กล่าว

            ด้านนางสาวสุมลรัตน์ กวีมงคลรัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ หนึ่งในผู้ร่วมงานการวิจัยความเหมาะสมในการเพาะปลูกบัวบก เปิดเผยว่า เนื่องจากบัวบกเป็นพืชสมุนไพร ที่ประชาชนนิยมรับประทาน   และพบว่าบัวบกที่ปลูกในศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้สารที่สำคัญมากจึงเป็นที่มาของการศึกษาเปรียบเทียบการผลิตบัวบกจากจำนวน 5 สายพันธุ์  ประกอบด้วย พันธุ์ระยอง พันธุ์ฉะเชิงเทรา  พันธุ์นครปฐม  พันธุ์หนองบัวลำภู  และพันธุ์นครศรีธรรมราช

                “บัวบกจะให้ผลผลิตมากหรือน้อยนั้น จะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่การให้ปุ๋ย การดูแลรักษาตลอดถึงสภาพแวดล้อมสภาพดินและภูมิอากาศ  รวมถึงสายพันธุ์ ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธุ์กัน ในการศึกษาจะเก็บข้อมูล 3 ครั้งคือ 30 วัน 60 วัน และ 90 วัน  และจากการทดสอบแล้ว 1 รอบที่ผ่านมาเบื้องต้นพบว่าพันธุ์หนองบัวลำภูให้ผลที่แตกต่างกับสายพันธุ์อื่นๆ อีก 4 สายพันธุ์ในสภาพการปลูกในลักษณะสิ่งแวดล้อมเดียวกัน”นางสาวสุมลรัตน์ กวีมงคลรัตน์ กล่าว

            สำหรับ “บัวบก” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centella asiatica  และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคกลางเรียกว่า บัวบก ภาคเหนือเรียกว่า ผักหนอก และภาคใต้เรียกว่าผักแว่น เป็นพืชเขตร้อนพบขึ้นทั่วไปตามที่ชื้นแฉะ เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกรากฝอยตามข้อ ใบเดี่ยวเรียงสลับ หรือออกเป็นกระจุกๆ ละ 3-5 ใบ สารสำคัญที่พบในบัวบกเป็นสารกลุ่มไตรเทอปินอยด์ ไกลโคไซด์ หลายชนิด เช่น กรดเอเชียติก สารเอเชียติโคไซด์ และกรดแมดิแคสซิค  หรือสารแมดิเคส

            ส่วนที่มีสรรพคุณทางยาคือใบและราก สามารถนำมารักษาอาการช้ำใน บำรุงหัวใจ บำรุงตับไต และสมอง บำรุงประสาท และความจำ ช่วยขับปัสสาวะ รักษาบาดแผลเปื่อย แก้โรคเรื้อน โรคบิด ลดอาการปวดศีรษะ และอาการเป็นไข้ น้ำใบบัวบกคั้นสดจัดเป็นเครื่องดื่มแก้กระหายน้ำที่ดีชนิดหนึ่ง

            การรับประทานใบบัวบกจะช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสาร GABA (Gamma-Amino Butyric Acid) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในระบบส่วนกลางช่วยให้ผ่อนคลายและนอนหลับได้ดี และช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น มีความจำดีขึ้นสามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น น้ำใบบัวบกคั้นสดจัดเป็นเครื่องดื่มแก้กระหายน้ำ บำรุงกำลัง การศึกษาวิจัยเพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำมาปลูกเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะการนำมาผลิตเป็นน้ำใบบัวบกพร้อมดื่ม ตลอดถึงใบบัวบกแห้ง และแบบชนิดผงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และเป็นคำตอบสำหรับการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกนำไปเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ต่อไป