-Healthy

สพฉ.ตั้งเป้า 3 ปี สอน10 ล้านคน ทำCPRได้ ใช้เครื่อง AED เป็น

         เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง บทบาทการทำงานของ สพฉ. ตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ 2551 ว่าที่ผ่านมา สพฉ.ดำเนินการตามภารกิจที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบการปฏิบัติการฉุกเฉิน เช่น จัดให้มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินผ่านหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ,มีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 80 ศูนย์ทั่วประเทศ ,มีหน่วยปฏิบัติการ 8 พันกว่าหน่วย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร มาร่วมปฏิบัติการด้วย ดังนั้นเมื่อประชาชน เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรผ่านหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการปฏิบัติการจะมีทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศยาน และจากสถิติพบว่ามีแนวโน้มที่ประชาชนเข้าถึงการบริการฉุกเฉินของประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปี มีผู้ป่วยเข้ามารับบริการในห้องฉุกเฉินปีละ 35 ล้านครั้ง แต่มีผู้ป่วยที่โทรผ่านหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ปีละ 6 ล้านครั้ง และมีการออกปฏิบัติการปีละ 1.8 ล้านครั้ง ดังนั้นถ้าเทียบกับตัวเลขผู้ป่วยยังถือว่าค่อนข้างน้อยอยู่ แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินแต่ละปี ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ครอบคลุมไปทั่วประเทศ 77 จังหวัด และในอนาคต สพฉ.จะเน้นการพัฒนามากขึ้น โดยเพิ่มปริมาณหน่วยที่ออกปฏิบัติการเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น พร้อมเน้นย้ำเรื่องของคุณภาพ มาตรฐาน และพยายามผลักดันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสำหรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินเองหรือผู้ปฏิบัติงานด้วย

เลขาธิการ สพฉ.ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันหน่วยที่ออกปฏิบัติการฉุกเฉินยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหน่วยที่มีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ สพฉ.เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้จัดทำโครงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการให้คนไทยมีสุขภาพดี สพฉ.จึงสานต่อภารกิจโดยเน้นให้ความรู้ประชาชน ให้ตระหนักรู้ถึงภาวะฉุกเฉิน ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และพัฒนาจิตอาสามาช่วยพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

“สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งาน จัดกิจกรรม 30 โครงการ เน้นย้ำให้คนไทยมีสุขภาพดี ซึ่ง 1 ใน 30 โครงการ สพฉ.ได้ร่วมจัดกิจกรรมด้วย คือ สอนประชาชนให้มีความรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน(CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) นอกจากนี้ ยังสอนให้เด็กมีความรู้เรื่องการลอยตัวเพื่อป้องกันปัญหาการจมน้ำเสียชีวิต โดยกิจกรรม จะจัดขึ้นในวันที่ 26 ก.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข มีกลุ่มเป้าหมายตั้งต้นภายใน 1 วัน ว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม 1 พันคน แบ่งเป็นนักเรียน 500 คน อสม.500 คน หลังจากนั้นจะมีการขยายผลต่อไป” เลขาฯ สพฉ.กล่าว

เลขาฯ สพฉ.เสริมอีกว่า สพฉ.ตั้งเป้าขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยจะเชิญภาคีเครือข่าย 10×10 หรือ 100 หน่วยงาน เพื่อเร่งขับเคลื่อน และสอนให้เป็นครูเพื่อไปสอนต่อ 10×100 ให้มีครู 1,000 คน และ มีผู้ช่วยครู 10×1000 คือ 10,000 คน ไปสอนประชาชนอีกทอด ให้ประชาชนมีความรู้เพิ่มเป็น 10 หมื่น 10 แสน10 ล้าน ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 1 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ เพราะฉะนั้นเป้าหมายคือ ประชาชน 10 ล้านคนจะต้องมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล CPR และ AED ซึ่งหากประชาชนมีความรู้เรื่องนี้ จะสามารถไปประกอบเติมเต็มห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิตได้ คือ ห่วงที่ 1 การรับรู้ ถึงภาวะฉุกเฉิน และมีการแจ้งเหตุเร็ว ห่วงที่ 2 คือ ถ้ามีความจำเป็น จะต้องปฐมพยาบาล หรือ CPR ได้เร็ว ห่วงที่ 3 คือการใช้ AED ทำได้เร็ว ในเวลาที่เหมาะสม ห่วงที่ 4 คือ มีรถฉุกเฉิน หรือหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินมาช่วย ณ จุดเกิดเหตุได้เร็ว และ ห่วงที่ 5 คือไปถึงสถานพยาบาลที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็วทันเวลา ซึ่ง 5 ห่วงนี้หากถูกเติมเต็ม จะทำให้การรอดชีวิตเร็วขึ้น เพราะเดิมทีหากเราเจ็บป่วย ก็จะพุ่งตรงไปห่วงที่ 5 เลย เวลาต่อมาก็มีการพัฒนา ห่วงที่ 1 แล้ว ไปรอห่วงที่ 4 คือรอรถฉุกเฉินมารับ ดังนั้นโครงการนี้จะมาเติมเต็ม และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องมีจิตอาสาด้วย เพราะหากเราเจอแล้วไม่ช่วยก็จบ