วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Latest:
-บทความ

ควรรู้ไว้..ควันบุหรี่ในบ้าน ภัยเงียบทำร้ายคนใกล้ตัว

“ควันบุหรี่ในบ้าน” ต้นเหตุที่สัมพันธ์ต่อการกลับมารักษาซ้ำในเด็กโรคหอบหืด

คุณรู้หรือไม่ว่า “ควันบุหรี่ในบ้าน” กำลังทำร้ายคนที่คุณรัก !!

            ควันบุหรี่ เป็นต้นเหตุการทำร้ายคนในบ้าน โดยเฉพาะเด็ก แม่บ้าน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ โดยทำให้อาการฟื้นตัวได้ช้า หรือส่งผลให้อาการป่วยแย่ลงได้

            ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวัยเรียนที่ มีภาวะหอบเฉียบพลันและฟังปอดพบเสียงวี้ด โดย รศ.นพ.ภาสกร ศรีทิพย์สุโข สังกัดศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านระบาดวิทยาประยุกต์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนทุนวิจัยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาในเด็กวัย 6 เดือน ถึง 5 ขวบ จำนวน 240 ราย ที่มี “ภาวะหอบเฉียบพลันและหายใจมีเสียงวี้ด” หรือ “โรคหอบหืด” ซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากความไวผิดปกติของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ทำให้ท่อทางเดินหายใจตีบแคบ ทำให้มีอาการหายใจลำบาก ไอ หายใจถี่ มีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก พบว่า ในระยะเวลา 1 ปี เด็กกลุ่มดังกล่าว ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉินซ้ำ จากภาวะหอบเฉียบพลันฯ มากถึง 67.5% และที่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล มีจำนวน 32.3%

            ผลลัพธ์ทางคลินิก พบว่า การเข้าโรงพยาบาลของเด็กมีความสัมพันธ์กับ ผู้ป่วยมีประวัติหอบเหนื่อยมีเสียงวี้ดมาก่อน ผู้ป่วยมีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว ภาวะพร่องวิตามินดี ข้อค้นพบที่น่าสนใจหนึ่ง พบว่า “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์” ซึ่งนำไปสู่การเข้ารับการรักษาฉุกเฉินของเด็ก คือ สภาวะแวดล้อมของผู้ป่วยและครอบครัว จากควันบุหรี่ภายในบ้าน โดยมีการสูบบุหรี่ในบ้านมากถึง 45%

            แล้ว“บุหรี่” มีสารอันตรายอะไรแอบแฝงอยู่บ้าง… โดยในบุหรี่ 1 มวน ประกอบด้วยสารพิษกว่า 4,000 ชนิด เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งเป็นตัวทำลายเม็ดเลือดแดงไม่ให้จับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ ส่งผลให้ขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง เหนื่อย หอบง่าย, ทาร์ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ, อะซีโตน มีผลต่อระบบหายใจ ทำให้มีอาการระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ รู้สึกเวียนศีรษะ เป็นพิษต่อปอดและตับ, พอโลเนียม เป็นสารกัมมันตรังสี ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอด และเป็นสารร้ายแรงที่จะแพร่ไปยังคนใกล้ชิดได้ด้วย เป็นต้น

            การวิจัยยังได้ประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบเฉียบพลันฯ พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยของการรักษาผู้ป่วยเด็ก 1 ราย เท่ากับ 20,269 บาท เกิดจากการรักษาก่อนมาโรงพยาบาล ระหว่างนอนหรือรักษาตัวในโรงพยาบาล และหลังจากออกโรงพยาบาล โดยการเข้าโรงพยาบาลของผู้ป่วยเด็ก ทั้งประเทศคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 779 ล้านบาท

          ภาวะหอบเฉียบพลันในเด็ก ยังมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดตามมาได้อีก จากไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสร มลพิษในอากาศ อาหารทะเล ถั่ว ไข่นม ผู้ปกครองจึงต้องเฝ้าระมัดระวังสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกหลานด้วย ตลอดจนใช้ยาควบคุมการอักเสบของหลอดลมตามแพทย์สั่ง และจัดการสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปราศจากควันบุหรี่  ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดปัญหาภาวะหอบเฉียบพลันฯ ในลูกหลาน แต่ยังลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกด้วย

ข้อมูลจาก : งานวิจัยเรื่องภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวัยเรียนที่ มีภาวะหอบเฉียบพลันและฟังปอดพบเสียงวี้ด โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดาวน์โหลดงานวิจัยได้ทาง http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4927

รับชม VDO Clip Motion Graphic ชุดความรอบรู้สุขภาพ กับวิจัยเพื่อสุขภาพประชาชน ตอน : ควันบุหรี่ในบ้านต้นเหตุที่สัมพันธ์ต่อการกลับมารักษาซ้ำในเด็กโรคหอบหืด ได้ทาง https://www.hsri.or.th/researcher/media/video/detail/11941