8 ภาคีเครือข่ายวิชาชีพลงนาม-ประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้าน Fake News
ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กทม. (17มิ.ย.2562) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ กล่าวในงานแถลงข่าว “International Conference on Fake News” ว่า Fake News หรือข่าวลวง เป็นเรื่องที่สามารถสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ของปัญหานี้ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคีเครือข่ายนักวิชาการ นักวิชาชีพ ทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย
– กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
– Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF)
– สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
– คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
– สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
– องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)
ได้ลงนามผนึกพลังความร่วมมือและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอม และสานต่อความร่วมมือจัดงาน “International Conference on Fake News” ในครั้งนี้ขึ้นมา โดยมีผู้แทนจากประเทศไทยและนานาชาติเข้าร่วมเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา เพื่อแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์การรับมือปัญหาข่าวลวงของแต่ละประเทศ ด้วยความร่วมมือ ของภาคีเครือข่าย งานครั้งนี้จะเป็นการสร้างจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนให้สังคมไทยรับมือ กับปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสมัยใหม่ มีทักษะ ในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
คัทริน บันนัคค์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน กล่าวว่า การบิดเบือนข้อมูลไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่มีสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน หลายศตวรรษ แต่ในทุกวันนี้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวลวงเป็นไปอย่างแนบเนียนกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และภาคีเครือข่ายทั้ง 8 แห่ง จึงเห็นพ้องต้องกันในการผนึกพลังต้านปัญหา ข่าวลวง เพราะความร่วมมือในวันนี้จะทำให้ก่อเกิดพลังของภาคพลเมืองมาขับเคลื่อนปัญหานี้ร่วมกัน
สำหรับงาน “International Conference on Fake News” ที่จัดขึ้นวันนี้ ได้รับเกียรติ จากผู้แทนภาคีเครือข่ายนักวิชาการ นักวิชาชีพ ในประเทศไทยและผู้แทน จากต่างประเทศ เข้าร่วมงาน อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล จากไต้หวัน นักวิชาการด้านสื่อมวลชนจาก The University of Hong Kong ผู้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากพรรค Free Democrat Party สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รวมถึงผู้แทนจากสํานักข่าว Thomson Reuters และ AFP เข้าร่วม เป็นวิทยากรและร่วมเสวนาในเวทีการต้านข่าวปลอม แนวทางปฏิบัติต้นแบบ ( Best Practice) และวินัยเชิงข่าว รวมถึง ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล จากไต้หวัน ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การค้นหาความจริงในโลกแห่งการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร และการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม” ด้วย