-ภาพข่าวรอบกรุง

UN Women ร่วมกับ ก.ล.ต.-มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดสัมมนา Inclusive Leadership means Better Business เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ

องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสหภาพยุโรป ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (Kenan Foundation Asia) ร่วมจัดงานเสวนา “Inclusive Leadership means Better Business” เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2565 ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ งานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นผู้นำของคนทุกเพศ รวมทั้งเรื่องการรายงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนทุกเพศและการพัฒนานโยบายองค์กรให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ อันเป็นแนวทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนและธุรกิจไทย

พร้อมกันนี้ ผู้บริหารขององค์กรที่ได้รับรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards ในสาขาต่าง ๆ 4 ท่าน ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนตัวอย่างแนวทางปฏิบัติการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ ประกอบด้วย พลตรีพัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาผู้นำองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ (Leadership Commitment) นายปรีดา บุญศิลป์ กรรมการผู้จัดการ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม (Community Engagement & Partnerships) นายโชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขาสถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Inclusive Workplace) และนส.ปิยนนท์ วัฒนะจรรยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เจ้าของรางวัลชนะเลิศ สาขาความโปร่งใสและการรายงาน (Transparency and Reporting)

การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกาศเจตนารมณ์และนำเสนอแนวทางที่แต่ละองค์กรปฏิบัติในการลดช่องว่างระหว่างเพศและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ ในภาคธุรกิจไทยได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งธุรกิจที่ปฏิบัติตามแนวทางส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศจะเติบโตมั่นคงในระยะยาว ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน