-Local-newssouthern-news

ชลประทานเร่งศึกษาบริหารจัดการน้ำแม่น้ำตรัง

กรมชลประทาน เร่งดำเนินการโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง หวังช่วยการบริหารจัดการน้ำทั้งยังสามารถช่วยผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง และลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำตรัง ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำตรัง ที่ไหลล้นเข้าท่วมในเขตอำเภอเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างมาก จึงเกิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตรัง ซึ่งในขณะนั้นเสนอให้ดำเนินการขุดลอกและขยายลำน้ำเดิม ขุดช่องลัด ขุดคลองผันน้ำ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯประกอบด้วย ประกอบด้วย บริษัท ซิกม่า ไฮโดร คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอช ทู โอ คอนซัลท์ จำกัด บริษัท เอเชีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แอมเพิล คอนซัลแทนท์(ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งมีพื้นที่ศึกษาด้านอุทกวิทยารวม 3,670 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น ลุ่มน้ำตรัง 3,433 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ต่อเนื่องถึงทะเล 237 ตารางกิโลเมตร จังหวัดตรัง ซึ่งประตูระบายน้ำแห่งนี้จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองตรังได้มากกว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ในช่วงฤดูน้ำหลาก และทดน้ำเข้าคลองผันน้ำในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ อีกทั้ง ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนขุดลอก/ปรับปรุงแม่น้ำตรังร่วมกับการขุดช่องลัดแม่น้ำตรัง เนื่องจากพบว่าแม่น้ำตรังบริเวณช่วงสุดท้ายจุดบรรจบกับคลองผันน้ำมีลักษณะคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ดังนั้น เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น จะต้องดำเนินการขุดขยายแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำร่วมกับการขุดช่องลัดแม่น้ำตรัง ด้วยการขุด ช่องลัดที่ 1 (ขุดใหม่) บริเวณพื้นที่ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมืองตรัง ระยะทางประมาณ 245 เมตร ช่องลัดที่ 2 (ขุดใหม่) บริเวณพื้นที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 563 เมตร ช่องลัดที่ 3 (แนวคลองเดิม) บริเวณพื้นที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 350 เมตร และช่องลัดที่ 4 (แนวคลองเดิม) บริเวณพื้นที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 874 เมตร รวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถย่นระยะทางการระบายน้ำได้มากกว่า 6 กิโลเมตร ช่วยบรรเทาและลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองตรังได้เป็นอย่างมาก

โดยโครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1) ประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมการไหลของน้ำก่อนไหลผ่านบริเวณตัวเมือง และทดน้ำเข้าคลองผันน้ำหลาก โดยออกแบบให้สามารถระบายน้ำสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในช่วงฤดูน้ำหลาก ทั้งนี้พื้นที่ที่ได้จากการศึกษาความเหมาะสมอยู่บริเวณด้านท้ายน้ำของสะพานโคกยูง-ท่าส้มหรือห่างจากปากคลองผันน้ำมาทางด้านท้ายน้ำของแม่น้ำตรังประมาณ 1,600 เมตร มีระยะระหว่างแนวคันกั้นน้ำฝั่งซ้าย-ขวาประมาณ 400 เมตร โดยบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมทางด้านชลศาสตร์และสะดวกต่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกับคลองผันน้ำหนองตรุด-คลองช้าง
2) การขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำตรัง พร้อมขุด/ปรับปรุงช่องลัดแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำ เนื่องจากจุดบรรจบของคลองผันน้ำกับแม่น้ำตรังมีลักษณะคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำโดยการขุด/ปรับปรุงช่องลัด 4 แนวได้แก่ 1.ขุดช่องลัดใหม่บริเวณตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 2.ขุดช่องลัดใหม่บริเวณตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 3.ปรับปรุงแนวคลองเดิมบริเวณตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และ 4.ปรับปรุงแนวคลองเดิมบริเวณตำบลควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมระยะทาง 2.03 กิโลเมตร สามารถย่นระยะทางได้ 6.04 กิโลเมตร จากระยะทางเดิม 8.07 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ในการจัดทำโครงการดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ว่าด้วย “ประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก” ซึ่งต้องศึกษาครอบคลุม ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตพบว่ามีปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลักที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ได้แก่ น้ำผิวดิน นิเวศวิทยาทางน้ำ ทรัพยากรดิน การชะล้างพังทลายของดิน ระบบชลประทาน การเกษตรและปศุสัตว์ การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำ การจัดการลุ่มน้ำ การระบายน้ำและการบรรเทาน้ำท่วม การใช้ประโยชน์ที่ดิน เศรษฐกิจ-สังคม การชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน การท่องเที่ยวกีฬา แหล่งนันทนาการ และสุนทรียภาพ