-LIFESTYLE

SACICT ประกาศศักดา “หัตถศิลป์ไทยบนความเปลี่ยนแปลงของโลก” ณ กรุงปารีส

        นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) หรือ SACICT ได้รับเชิญจาก Ateliers d’Art de France ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านศิลปะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลกก่อตั้งมากว่า 150 ปี และมีเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ มากกว่า 100 แห่งทั่วโลก ให้เข้าร่วมงาน Revelations 2019 ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะร่วมสมัย (Fine Art) ที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของยุโรป และนานาชาติให้การยอมรับว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของโลกงานหนึ่ง ศิลปินทั่วโลกและบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการต่างปักหมุดเข้าร่วมชมผลงานของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยกว่า 450 คนจาก 33 ประเทศ โดย SACICT และ Ateliers d’Art de France มีความร่วมมือในข้อตกลงระหว่างกัน ในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมสู่ระดับสากล

            สำหรับงาน Revelations 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 พฤษภาคม 2562 ณ Grand Palais กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พีธีเปิดมีแกรนด์ดยุกอดอลฟ์แห่งลักเซมเบิร์ก เป็นประธานเปิดงาน โดยประเทศไทยได้รับคัดเลือกเข้าไปจัดแสดงในโซน The Exhibition Le Banquet ซึ่งเป็นโซนพิเศษที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นสุดยอดผลงานระดับโลก ใน 11 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ คาเมรูน แคนาดา ชิลี สเปน อินเดีย อิหร่าน ลักเซมเบิร์ก โรมาเนีย ไทย และเจ้าภาพฝรั่งเศส ซึ่งการที่ประเทศไทยโดย SACICT เป็นประเทศเดียวในอาเซียนถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจ ที่วันนี้งานหัตถศิลป์ไทยจะได้อวดโฉมปรากฏสายตาชาวโลกให้เป็นที่ประจักษ์ในความงดงามและคุณค่าจากภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานกับจินตนาการอันกว้างไกลฝีมือคนไทย

                Revelations 2019 มีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่โดยแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก รวมทั้งศิลปิน สื่อมวลชน และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกร่วมงานอย่างคับคั่ง ซึ่งแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์กได้เสด็จฯเยี่ยมชมบริเวณจัดแสดงของประเทศไทย โดยทรงชื่นชมงานเบญจรงค์เป็นพิเศษ

            นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ยังเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญร่วมบรรยายเปิดมุมมอง “Thai Fine Art” ในงาน Symposium ร่วมกับ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ หรือ ศิลปิน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปูทางการพัฒนาศิลปะหรือหัตถกรรมร่วมสมัยของโลกให้ขับเคลื่อนและพัฒนาสู่อนาคต ผลงานหัตถศิลป์ไทยสมัยใหม่จึงต้องทั้งความสวยและยังต้องแปลกแตกต่าง องค์ประกอบที่ผ่านการคิดมาอย่างใส่ใจ ผ่านกรรมวิธีที่ทั้งยากและใช้เวลามากมายในการสร้างสรรค์ ผนวกกับแนวคิดทางศิลปะสามารถสร้างสุนทรียภาพ ความงดงามในจิตใจ เกิดความอิ่มใจและเอิบอาบในวิถีแห่งภูมิปัญญาที่ถูกนำกลับมาเติมเต็มชีวิตของผู้คนในปัจจุบันได้

            นานาชาติจะได้เห็นถึงศิลปหัตถกรรมไทยบนความเปลี่ยนแปลงของโลก พัฒนาการงานหัตถศิลป์ของไทย จากเดิมเป็นของใช้ของชาวบ้าน ต่อมาภูมิปัญญาเหล่านี้ได้เกิดการพัฒนาและฝึกฝน จนเกิดเป็นงานเชิงช่างชั้นสูงที่รังสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองความเชื่อทางศาสนา และส่งเสริมบ่งบอกสถานภาพของผู้ใช้ เช่น เครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ มีความงดงามประณีตวิจิตรตระการตา เพื่อแสดงออกถึงความเคารพเทิดทูน เมื่องานช่างวิจิตรศิลป์แพร่ขยายและคลี่คลายสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้งานศิลปหัตถกรรมจำเป็นต้องปรับตัว SACICT ได้ผลักดันให้วงการหัตถศิลป์ไทยมีพัฒนาการที่สอดรับกับกระแสของประชาคมโลก ด้วยภารกิจในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือ“หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life’s Crafts” หัตถศิลป์ยุคใหม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว โดยผลงานหัตถศิลป์ไทยที่จัดแสดงเป็นงานฝีมือที่มาจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ทายาทศิลปหัตถกรรม และศิลปินรุ่นใหม่ผู้ชนะการประกวด SACICT Innovative Crafts Award  ทั้งประเภทงานผ้า โลหะ เครื่องหนัง และเบญจรงค์.