-EconomicsMice

“เอ็กซ์โปลิงค์” ยกไทยศูนย์กลางงานแสดงสินค้าระดับโลก หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ มั่นใจปีหน้างาน MICE กลับมา 100%

นายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้นำตลาดด้านจัดงานแสดงนิทรรศการ และการประชุมระดับนานาชาติของไทrย อาทิ งาน LogiMAT | Intelligent Warehouse, งาน VICTAM Asia และงาน Kind + Jugend ASEAN โดยบริษัทฯ ได้เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2545 ประมาณ 20 ปี และมีโคโลญเมสเซ่ รัฐวิสาหกิจจากเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี เข้าถือหุ้น 49% และทางนายภูษิต ถือหุ้น 51%

ทั้งนี้ หลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และเปิดประเทศ คาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง แม้ปัจจุบันมีการประชุม หรือจัดงานผ่านออนไลน์ แต่เชื่อมั่นว่าการจัดงานลักษณะที่มีการเจรจาธุรกิจร่วมกันนั้นจะต่อยอดได้มากกว่า และออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ ซึ่งปีนี้คาดว่ามีผู้ประกอบการเริ่มกลับมาร่วมในการแสดงสินค้าแล้วถึง 80% และกลับมาเต็ม 100% ได้ในปี 66

นายภูษิต กล่าวอีกว่าบริษัทฯ ได้วางแผนจะดึงงานระดับโลกจากทางโคโลญเมสเซ่ เข้ามาจัดในประเทศไทยเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 งานใหญ่ เช่น งานแสดงสินค้านานาชาติที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์และของใช้จำเป็นสำหรับเด็กแห่งภูมิภาคอาเซียนที่จะจับมือร่วมกับหอการค้าไทย และงานอินชัวรันไฟแนนเชียล หรืองานที่เกี่ยวกับประกัน ซึ่งจะเน้นงานที่กำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน และอนาคตเป็นหลัก ทำให้ทั้งปีมีทั้งหมด 6 งาน เพื่อเร่งสร้างศักยภาพให้กับตลาดไมซ์ไทยและผลักดันให้ศูนย์กลางการจัดงานของอินโดจีนและอาเซียน ตั้งเป้าหมายปีนี้บริษัทจะมีรายได้จากการจัดงานที่ 200 ล้านบาท โดยสัดส่วน 60% มาจากการจัดงานไทยเฟ็กซ์ หรืองานแสดงสินค้านานาชาติที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร เครื่องดื่ม และเทคโนโลยีอาหารชั้นนำแห่งเอเชีย

นายภูษิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคคลายกังวลเรื่องโควิด-19 ลงไปมากแล้ว แต่กังวลเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเรื่องพลังงาน หรือราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นแทน และอีกหลายๆ ประเทศเริ่มกังวลเรื่องอาหาร โดยมีหลายสิบประเทศที่ขณะนี้ถูกระงับการส่งออกอาหาร ซึ่งมองว่ามีทั้งผลดีและผลเสียกับประเทศไทย เช่น มาเลเซียยกเลิกส่งออกสินค้าอาหารบางอย่าง ทำให้สิงคโปร์ซึ่งเป็นลูกค้าหันมาสั่งซื้อในไทยแทน เป็นต้น ส่วนสถานการณ์ในไทยยังต้องมองอีกสักระยะว่ามีมาตรการเรื่องการส่งออกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารอย่างไร

ในแง่ของผู้ประกอบการไม่ได้กังวลในการดำเนินธุรกิจ เพราะบรรยากาศกลับมาฟื้นตัวแล้ว แต่กังวลในเรื่องของต้นทุนด้านพลังงานมากกว่า จึงอยากให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการลดต้นทุนด้านพลังงาน หรือราคาน้ำมันเป็นหลัก มากกว่ามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะผู้บริโภคต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

“เห็นได้จากการงาน THAIFEX-Anuga Asia 2022 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่จัดงานตั้งแต่วันที่ 24-28 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น ได้รับการตอบรับมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 1,200 ราย ผู้ซื้อถึง 2,500 ราย และผู้เข้าชมงานในวันเจรจาธุรกิจกว่า 51,000 คน กับการสร้างเครือข่ายแบบพบหน้ากันเพื่อเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจ หรือตลอดการจัดงานคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการเจรจาธุรกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และเจรจาในแบบออนไลน์อีก 400 ล้านบาท อีกด้วย” นายภูษิต กล่าว.