-environmentกรมอุทยานแห่งชาติฯรอบกรุง

จับหนุ่ม ลักลอบขาย “เต่านา” กลางตลาดสดรถไฟมหาชัย

กทม.(20 ตุลาคม 2564)นายวีระยุทธ เกษสกุล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ เปิดเผยว่า วานนี้ (19 ต.ค.) เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำรวจภูธร ภาค 7 เจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำรวจภูธร จังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ออกตรวจการกระทำผิดเกี่ยวกับซื้อขายสัตว์ป่าคุ้มครอง บริเวณตลาดสดรถไฟมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

จากการตรวจสอบพบมีการขายเต่านา เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดจับกุม นายวิทยา (สงวนนามสกุล) พร้อมด้วยของกลางเต่านา จำนวน 33 ตัว กระสอบปุ๋ยสีเหลืองขาว จำนวน ใบ และกระป๋องพลาสติกสีแดง จำนวน 1 ใบ จากนั้นได้นำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร ตามความพรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซาก สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว โดยของกลางทั้งหมดมอบให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประมง จังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

มูลนืธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ข้อมูล “เต่านา” ว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดชนิดหนึ่ง เพื่อนำมาขายผู้ที่ต้องการทำบุญด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองอายุยืนเหมือนกับเต่า แต่ความจริงเต่านาส่วนใหญ่ที่ถูกปล่อยมักจะเสียชีวิตเพราะปล่อยในถิ่นที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม

เต่านาจัดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน และเป็นเต่าน้ำจืดในสกุล Malayemys ซึ่งปัจจุบันถูกจำแนกออกเป็น 3 ชนิดได้แก่ เต่านา (M. macrocephala) เต่านาแม่โขง (M. subtrijuga) และเต่านาอีสาน (M. isan) เต่านาแม่โขงยังจัดเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามระดับโลกและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ในบัญชีแดงของ IUCN

เต่านาทั้งสามชนิดอาศัยในแหล่งน้ำที่ไม่ลึกมากตามธรรมชาติที่มีพืชพรรณริมตลิ่ง อาศัยกินหอยฝาเดียวเป็นอาหาร เต่าที่ได้รับการปล่อยหน้าวัด หรือปล่อยลงแม่น้ำขนาดใหญ่จึงมีโอกาสรอดน้อยมาก นั่นเท่ากับว่าเป็นการฆ่าเต่าโดยไม่รู้ตัว การทำบุญด้วยการปล่อยเต่านาจึงเป็นการทำบาปมากกว่าได้บุญ และยังเป็นการทำผิดกฎหมายห้ามซื้อขายและครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง

พบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการล่า หรือซื้อขาย สัตว์ป่าคุ้มครองแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

#เต่านา #สัตว์ป่าคุ้มครอง #DNPnews #เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์