เกษตรภาคตะวันออก… เจ๋ง…คุมทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกตลาด “สำเร็จ”
เกษตรภาคตะวันออกบูรณาการส่วนงานเกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด แบบเชิงรุก เกษตรกร ล้ง ตลาด ผู้ประกอบการขนส่งให้ความร่วมมือ ลดปัญหาได้เป็นรูปธรรม ตลาดใหญ่ในประเทศจีนมีความพึงพอใจ กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ แจ้งผู้บริโภคชาวจีนชื่นชมคุณภาพและรสชาติทุเรียนไทย
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ( สสก. 3 จ.ระยอง ) เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนาไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2564 ในส่วนของผลผลิตทุเรียนที่เริ่มออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว โดยคาดว่าที่จะเป็นปัญหาต่อเนื่อง คือ การเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนระยะที่ถูกต้องส่งขายท้องตลาดนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้ สสก.3 จ.ระยอง เป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกำหนดแนวทางและการดำเนินงานในการควบคุมป้องกันและแก้ไขทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด
ทั้งนี้ได้มีการจัดประชุม เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการดำเนินการป้องกันแก้ไขทุเรียนอ่อนในภาพรวมของภาคตะวันออก ปี 2564 โดยมีผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก สมาคมผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ สมาคมทุเรียนไทยและเกษตรกร
ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกัน คือ การกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2564 โดยออกเป็นประกาศจังหวัดให้เป็นการเก็บเกี่ยวทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองของภาคตะวันออก แบบไม่ต้องแยกรายจังหวัด และเป็นรุ่นเดียวที่เป็นรุ่นใหญ่ของจังหวัด คือ วันที่ 10 เมษายน 2564 ซึ่งจะเป็นช่วงที่เน้นหนักในการตรวจสอบคุณภาพ โดยให้สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ในการลงไปตรวจความแก่ทุเรียนตามมาตรฐานที่กำหนด และให้เกษตรกรที่ต้องการตัดทุเรียนก่อนวันที่กำหนดแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบคุณภาพ
ภายใต้เกณฑ์ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เปอร์เซ็นต์แป้งจะต้องได้ 32% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป ทุเรียนพันธุ์ชะนี เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 30% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป ทุเรียนพันธุ์กระดุม เปอร์เซนต์แป้งต้องได้ 27% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป และทุเรียนพันธุ์พวงมณี เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 30% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป เมื่อทุเรียนได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว สำนักงานเกษตรอำเภอจะออกใบรับรองเปอร์เซนต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนพร้อมตัวอย่างแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนเข้าโรงคัดบรรจุพร้อมสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAPพืช นอกจากนี้ยังมีการตั้งจุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสกัดกั้นทุเรียนอ่อน ลงพื้นที่สุ่มตรวจวัดเปอร์เซนต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนในแปลงของเกษตรกรและผู้ประกอบการล้งทุเรียน เพื่อคุมเข้มสกัดกั้นไม่ให้ทุเรียนอ่อนออกนอกพื้นที่ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับซื้อ
“จากผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว พบว่า พื้นที่ภาคตะวันออกสามารถควบคุมทุเรียนอ่อนได้ในระดับที่น่าพอใจมาก ที่สำคัญเกษตรกรมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการนำผลผลิตทุเรียนมาให้สำนักงานเกษตรอำเภอตรวจสอบความแก่ก่อนตัดเป็นจำนวนมาก ต่างมีความพึงพอใจและให้ความร่วมมือกับมาตรการดังกล่าวเป็นอย่างดี ด้วยเห็นว่าเป็นแนวทางการเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ทุเรียนภาคตะวันออกมีคุณภาพมากขึ้น และมีตลาดที่ดีในอนาคต ขณะที่ผู้ประกอบการ ล้ง ตลอดถึงมือตัดทุเรียนก็มีความตื่นตัวในการบริหารจัดการผลผลิต มีการสำรวจกำหนดระยะเวลาการตัด และปริมาณผลผลิต เพื่อไม่ให้มีการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ด้านผู้รวบรวมเพื่อการส่งออก ผู้ซื้อ-ขายในตลาดกลาง ผู้จำหน่ายทุเรียนริมทาง ตลาดนัด ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ก็ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามประกาศนี้ของจังหวัด ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนขายผลผลิตได้ราคาสูงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาลผลิต” นายปิยะ สมัครพงศ์ กล่าว
ผอ. สสก. 3 จ.ระยอง เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ในความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากตลาดและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นคุณภาพในผลผลิตทุเรียน และส่งผลถึงภาพลักษณ์ของคุณภาพทุเรียนไทยที่ได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ โดยมีหนังสือชื่นชมถึงคุณภาพและรสชาติของทุเรียน จากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนเข้มข้นจริงจัง ส่งผลให้สามารถลดปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพที่ส่งออกไปยังประเทศจีนได้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการบริโภคทุเรียนในประเทศจีนจะมีเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง.