แพทย์แผนไทยแนะ 5 ตำรับยาหอมไทย เหมาะสำหรับใช้ดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงวัย เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 2565
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้วยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายมีการเสื่อมถอย ซึ่งความเสื่อมของร่างกายนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมไปถึงอาการนอนไม่หลับ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่สบายกายความไม่สบายใจให้กับผู้สูงอายุได้
ดังนั้น เพื่อให้ลูกหลานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุหรือญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำยาหอมไทย ที่เหมาะจะใช้ดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อสงกรานต์นี้ ลูกหลานท่านใดที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจะได้นำไปฝากผู้สูงอายุที่บ้าน ยาหอม เป็นตำรับยาในเบื้องต้นที่แพทย์แผนไทยใช้ปรับการทำงานของธาตุลมในร่างกายที่จะส่งผลกับธาตุไฟและธาตุน้ำ ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล เลือดลมไหลเวียนดี และเป็นตัวยาที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ปัจจุบันมียาหอมในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งหมด 5 ตำรับได้แก่
1.ยาหอมนวโกฐ สรรพคุณแก้วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (แก้อาการหลังจากฟื้นไข้ เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ฯ)
2.ยาหอมอินทจักร์ สรรพคุณแก้อาการ จุกเสียด แน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ช่วยให้ร่างกายสดชื่นตื่นตัว
3.ยาหอมทิพโอสถ สรรพคุณแก้วิงเวียนศีรษะ บำรุงธาตุ
4.ยาหอมเทพจิตร สรรพคุณบรรเทาอาการหน้ามืด ตาลาย ตาพร่าเป็นลม ช่วยให้นอนหลับสบาย
5.ยาหอมแก้ลมวิงเวียน สรรพคุณแก้วิงเวียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และบำรุงร่างกาย
สำหรับการใช้ยาหอมให้ได้ผลดี แม้จะเป็นชนิดเม็ดควรนำมาละลายน้ำอุ่นรับประทานขณะอุ่นๆ เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ทำให้ได้สรรพคุณของยาหอมตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย คือ การรักษาโรคทางร่างกายและเยียวยาโรคทางจิตใจร่วมด้วย
❌ข้อห้ามในการใช้ยาหอม คือ ยาหอมนวโกฐห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้ และ ยาหอมอินทจักร์ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
❌สำหรับข้อควรระวัง คือ ระวังการใช้ยาร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เช่น แอสไพริน คลอพิโดเกรล และวาร์ฟาริน ระวังการใช้ในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ และยาหอมเทพจิตรกับยาหอมทิพโอสถ ควรระวังการใช้อย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับและไต
นายแพทย์ธิติ กล่าวในตอนท้ายว่า การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งสำคัญ สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ถึงจะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM