-EconomicsLabour

แรงงานตั้งเป้าพัฒนาคน10 อุตสาหกรรม ป้อน EEC  ชี้ “ดิจิทัล-โลจิสติกส์” ต้องการเยอะสุดหลักแสนคน

ชลบุรี (20 พฤศจิกายน 2562) หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพร้อมด้วย ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรืองผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางานนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางานและผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เยี่ยมชมการดำเนินโครงการอมตะสมาร์ทซิตี้(AMATA Smart City) และการพัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและพบปะนักศึกษาฝึกงานของมูลนิธิเฟืองพัฒนาและบริษัท เอฟโอ เอ็มเอ็ม (เอเชีย)จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตยานยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าขนาดเล็กและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมโครงการว่า ภารกิจที่สำคัญของกระทรวงแรงงาน คือการส่งเสริมการมีงานทำพัฒนาทักษะฝีมือ คุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆของแรงงาน  การจัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกระทรวงแรงงานจึงเป็นหน่วยงานในกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปร่วมมือในการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)และได้เริ่มต้นจัดทำข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการในพื้นที่ทำให้เกิดการบรรจุงานจำนวนเกือบ 30,000 อัตราในปีที่ผ่านมา และจากการประเมินความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นพบว่ามีความต้องการแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่อีกจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่แรงงานเหล่านั้นจะต้องได้รับการเพิ่มพูนทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังได้นำฐานข้อมูลแรงงานแห่งชาติมาใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆและได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีความสามารถในการติดตามความเคลื่อนไหวของความต้องการแรงงานและเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆได้เพิ่มมากขึ้น ในการพัฒนาระบบช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2563ในประเด็นการคุ้มครองและดูแลสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ตามกฎระเบียบต่างๆได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกระจายไปอย่างทั่วถึงเพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับและเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด

ด้าน นายสุชาติพรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีสถานประกอบการ 38,127 แห่ง แบ่งเป็นใน จ.ชลบุรี 23,563 แห่ง ระยอง 9,288 แห่ง และฉะเชิงเทรา 5,276 แห่ง มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 1,402,890 คน ด้านความต้องการแรงงาน 10 อุตสาหกรรม พบว่าระหว่างปีพ.ศ.2562-2566 มีจำนวน 475,667 คน โดยเป็นระดับอาชีวศึกษา253,115 คน ปริญญาตรี 213,942 คนและปริญญาโท-เอก 8,610 คน โดยต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 53,739 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 58,228 คน ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี 16,920 คน หุ่นยนต์ 37,526 คน การบิน 32,837 คน ดิจิทัล 116,222 คน การแพทย์ครบวงจร 11,410 คน ระบบราง(รถไฟฟ้าความเร็วสูง) 24,246 คน พาณิชย์นาวี 14,630 คน และโลจิสติกส์ 109,910 คน