-COVID19

WHO ย้ำโควิด-19 ยังเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”ไปอีกอย่างน้อยสามเดือน

            (เจนีวา) ดร.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในงานแถลงข่าวจากกรุงเจนีวา เมื่อวันศุกร์ที่1 พ.ค.ผ่านมาว่า การระบาดของ COVID-19 ยังคงเป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ(PHEIC)

                ทั้งนี้ Tedros ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ(PHEIC) ซึ่งเป็นระดับการเตือนภัยสูงสุดของ WHO เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัส coronavirus 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง(โควิด-19 )เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เมื่อพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 นอกประเทศจีนจำนวน 82 เคส

            ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก มีอำนาจในการพิจารณาว่าการระบาดนั้นเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อเข้าเงื่อนไขบางประการ และจะมีการทบทวนการตัดสินใจทุกๆ สามเดือน โดยองค์การอนามัยโลกพร้อมให้การสนับสนุนทุกประเทศทั้งด้านเทคนิคและโลจิสติกส์

                Tedros ยังกล่าวด้วยว่า เราได้ทำชัดเจนตั้งแต่ต้น เราจะยังคงเรียกร้องนานาประเทศให้ดำเนินมาตรการที่ครอบคลุม เพื่อค้นหา แยกส่วน ทดสอบและปฏิบัติต่อทุกกรณี และติดตามทุกการติดต่อ และตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ เราจะประชุมคณะกรรมการฉุกเฉิน COVID-19 อีกครั้งในอีก 90 วันหรือเร็วกว่านั้น หากจำเป็น

                สำหรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) คือการประกาศอย่างเป็นทางการโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อนานาประเทศ จากการแพร่ระบาดระหว่างประเทศและต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. 2005 (International Health Regulations : IHR) รัฐมีหน้าที่ต้องตอบสนองทันทีต่อภาวะฉุกเฉินดังกล่าว

            ก่อนหน้านี้ WHO เคยประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” มาแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี ค.ศ. 2009, โปลิโอ ปี 2014, อีโบลา ในแอฟริกาตะวันตก ปี 2014, ซิก้า ปี 2016, อีโบลา ในประเทศคองโก ปี 2019 และ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 การประกาศถือว่าเป็นการชั่วคราวที่ต้องได้รับการทบทวนทุก ๆ สามเดือน โดยคณะกรรมการฉุกเฉิน (EC) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่ดำเนินงานภายใต้ กฎอนามัยระหว่างประเทศ” (International Health Regulations หรือ IHR)     

            การพิจารณาว่าเหตุการณ์ใดเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เข้ากับเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อต่อไปนี้

1.เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบด้านสาธารณสุขที่รุนแรง

2.เป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติหรือไม่คาดคิดมาก่อน

3.มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดข้ามประเทศได้

4.มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องจำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ

            เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิด “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (PHEIC) อย่างมีประสิทธิภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออก “กฎอนามัยระหว่างประเทศ” (International Health Regulations หรือ IHR) ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ (Treaty) ที่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม เพื่อร่วมมือกันจัดการกับเหตุการณ์ที่มีศักยภาพในการแพร่ระบาดข้ามประเทศไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยใช้วิธีจัดการให้มีผลกระทบต่อการเดินทางและการค้าขายระหว่างประเทศน้อยที่สุด