สภาพอากาศ

7 จังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ เฝ้าระวังคลื่นลมแรง 20–23 ก.ค.64

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 7 จังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา และภูเก็ต เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์คลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นไปและอ่าวไทยตอนบน ในช่วงวันที่ 20-23 ก.ค. 64 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ และเฝ้าระวังสถานการณ์โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยพร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการเดินเรือหากทะเลมีคลื่นสูงและมีกำลังแรง ส่วนเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 5 (104/2564) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นไปและอ่าวไทยตอนบนทะเล มีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กอปภ.ก.โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 7 จังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 20 – 23 กรกฎาคม 2564 แยกเป็น

ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ และอำเภอเกาะสีชัง) ระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอบ้านฉาง และอำเภอแกลง) จันทบุรี (อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอนายายอาม) และตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ อำเภอเกาะกูด และอำเภอเกาะช้าง)

ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ อำเภอสุขสำราญ) พังงา (อำเภอเกาะยาว อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอคุระบุรี และอำเภอท้ายเหมือง) และภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง)

รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์คลื่นลมแรงในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมทรัพยากรให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณชายฝั่งทะเล ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยพร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

พร้อมกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ชายทะเลแจ้งนักท่องเที่ยวให้งดประกอบกิจกรรมทางทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรง นอกจากนี้ ให้ประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และตำรวจน้ำแจ้งเตือนการเดินเรือให้เป็นไปตามมาตรการเพื่อความปลอดภัย โดยให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและงดการเดินเรือหากทะเลมีคลื่นสูงและมีกำลังแรง สำหรับเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.