+eastern-newsLocal-news

ไข้เลือดออกสระแก้วระบาดหนัก! พบผู้ป่วยพุ่งเกือบ 400 ราย

แพทย์หญิงอรรัตน์ จันทร์เพ็ญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (4 มิถุนายน 62) จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมจำนวน 392 ราย อัตราป่วย 69.76 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 1 ราย (อ.วังน้ำเย็น) อัตราตาย 0.18 ต่อแสนประชากร พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกที่ อำเภอเมืองสระแก้ว มีอัตราป่วย 107.08 ต่อแสนประชากร รองลงมาได้แก่ อำเภอวังน้ำเย็น (91.10) และอำเภอคลองหาด(91.06) ต่อแสนประชากร ตามลำดับ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงสุด 3 อันดับแรก ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมา คือ 5-9 ปี และ 0 – 4 ปี พบผู้ป่วยเพศชายและเพศหญิงในอัตราส่วนพอๆกัน สถานการณ์ในภาพรวม พบว่าในเดือนพฤษภาคม จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยจำนวน 135 ราย ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีถึง 5 เท่า ทำให้จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยอยู่ในลำดับที่ 7 ของประเทศ (สัปดาห์ที่แล้ว อยู่อันดับที่ 16) และอันดับ 2 ของเขตสุขภาพที่ 6 (8 จังหวัดภาคตะวันออก) รองจากจังหวัดตราด

“ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมจำนวน 392 ราย อัตราป่วย 69.76 ต่อแสนประชากร พบการเกิดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 9 อำเภอ 55 ตำบล 177 หมู่บ้าน ในสัปดาห์ที่ 21 มีรายงานการพบผู้ป่วยรายใหม่ 55 ราย ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว 15 ราย อำเภอคลองหาด 5 ราย อำเภอตาพระยา 1 ราย อำเภอวังน้ำเย็น 16 ราย อำเภอวัฒนานคร 6 ราย อำเภออรัญประเทศ 3 ราย อำเภอเขาฉกรรจ์ 3 ราย อำเภอโคกสูง 1 ราย และอำเภอวังสมบูรณ์ 5 ราย” แพทย์หญิงอรรัตน์ กล่าว

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า ช่วงนี้หากพบผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องแนะนำให้ไปโรงพยาบาล ห้ามฉีดยา ห้ามจ่ายยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ กลุ่มเอ็นเสด แอสไพริน เพราะจะทำให้โรครุนแรงขึ้น และหากพบผู้ป่วยต้องรีบรายงานเพื่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่เข้าไปยังบ้านที่มีผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้เสร็จภายใน 1 วัน และติดตามต่อเนื่องอีก 28 วัน จึงจะสามารถควบคุมโรคได้ผล ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนอยากขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์)

โดยยึดหลัก “3 เก็บ 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน เช่น แก้วน้ำ แจกันหน้าหิ้งพระและศาลพระภูมิ ควรล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา